กทม. 9 ก.พ. – สวนดุสิตโพล ชี้ คนใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นลด เหตุไม่สะดวก-ตรงกับวันเสาร์ กกต. ถูกตั้งคำถามเรื่องประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศเรื่อง “ควันหลงเลือกตั้งท้องถิ่น”กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,386 คน โดยสำรวจทางออนไลน์และภาคสนามระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ. 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.28 ไปเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา อีกร้อยละ 36.72 ไม่ได้ไปเพราะติดภารกิจต้องทำงาน โดยคิดว่าสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้น้อยกว่าที่คาดการณ์เพราะติดธุระ ไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ ร้อยละ 68.99 รองลงมาคือ ตรงกับวันเสาร์ ร้อยละ 47.18 ทั้งนี้มองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติมีความแตกต่างกัน ร้อยละ 52.89 เพราะผู้สมัครท้องถิ่นเป็นคนในพื้นที่ รู้และเข้าใจปัญหาของชุมชนได้ดี มีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่า โดยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ คือ ประชาชนมีแนวคิดใหม่ ๆ ในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น ร้อยละ 54.91 สุดท้ายในแง่ของผลการเลือกตั้งที่ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนั้นอาจต้องรอดูผลลัพธ์ในระยะยาว ร้อยละ 26.98
น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล เปิดเผยว่า ควันหลงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้สะท้อนถึงความซับซ้อนของอำนาจในแต่ละพื้นที่ ผู้ใช้สิทธิที่ลดลงจากความไม่สะดวกและการเลือกตั้งที่ตรงกับวันเสาร์และการตั้งคำถามถึงการประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สร้างความสงสัยให้กับประชาชน สำหรับพรรคการเมืองที่ลงสนามแบบเปิดหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า ประชาชนต้องการ “ผู้นำใกล้ชิด” และ “เข้าใจพื้นที่” มากกว่าผู้นำในเชิงนโยบายกว้าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากการเมืองระดับชาติ
ผศ.อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า หากพิจารณาสถิติของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 เป็นตัวชี้วัดการทำงานของ กกต. ก็คงต้องกล่าวว่าประสบความล้มเหลวในด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เนื่องจากจำนวนประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มีสัดส่วนเพียง 58 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศในวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ซึ่งมีสัดส่วน 62.86 เปอร์เซ็นต์ ลดลงถึง 4.86 เปอร์เซ็นต์ จากผลสำรวจพบว่าสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้น้อย เนื่องจากประชาชนไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ เพราะติดภารกิจ และเป็นวันเสาร์ ประชาชนที่ทำงานในภาคเอกชนบางบริษัทยังคงต้องทำงานตามปกติ ซึ่งมีความสอดคล้องกับเสียงสะท้อนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ
ผศ.อัญชลี กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่ตามมาคือ ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิถูกจำกัดสิทธิจากเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 5 ประการเป็นเวลา 2 ปี เว้นแต่ได้แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือ ก่อนการเลือกตั้ง 7 วันหรือภายใน 7 วันนับหลังวันเลือกตั้ง เช่นเดียวกับกรณีของบัตรเสียจำนวน 900,000 ใบ สะท้อนความล้มเหลวในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์กับประชาชนแต่ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการบริหารจัดการของ กกต. มากกว่า ส่วนประชาชนที่ไปใช้สิทธิแต่กากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนก็เป็นเสียงสะท้อนของความไม่เชื่อมั่นในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพื้นที่ แม้จะมีนโยบายดี แม้จะมีสังกัดพรรคใหญ่แต่ยังไม่รัก ไม่มั่นใจ จึงไม่เลือก.-312-สำนักข่าวไทย