กระทรวงแรงงาน 31 ส.ค.-รองนายกฯ หารือแก้ปัญหาประมงขาดแรงงาน เห็นชอบต่ออายุใบอนุญาตอีก 2 ปี และเปิดโอกาสให้แรงงานทั่วไปเข้าสู่ภาคประมง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ที่กระทรวงแรงงาน วันนี้ (31 ส.ค.) ว่า การประชุม กนร.วันนี้ เพื่อพิจารณาหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเล โดยสำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหามีทั้งหมด 3 แนวทาง แนวทางแรกคือการขยายเวลาให้กับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในมาตรา 83 พระราชกำหนดการประมงที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จำนวนประมาณ 11,000 คน ให้อยู่และทำงานต่อในไทยได้อีก 2 ปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2563โดยให้มารายงานตัวทุกๆ1ปีที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ(OSS) ใน 22 จังหวัดติดชายทะเล แรงงานสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 ก.ย.2561
และเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวทั่วไปที่ถือหนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล เอกสารเดินทาง ที่ยังไม่หมดอายุและสนใจอยากจะเข้าสู่ภาคประมง สามารถเข้าสู่ระบบได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2561 ซึ่งจะสามารถทำงานในกิจการประมงทะเลได้เป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือเป็นใบอนุญาตการทำงาน
ส่วนมาตรการสุดท้าย คือทางการเมียนมา จะส่งแรงงาน จำนวน 42,000 คน ผ่านระบบ MOU เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในภาคประมงด้วย โดยจะนำเข้าผ่านทางด่านเกาะสอง จังหวัดระนอง ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งไทยจะจัดตั้งศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้างในจังหวัดระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกแรงงานกลุ่มดังกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบในมาตรการข้างต้น และยังเห็นชอบหลักการในการนำเข้าแรงงานจากเวียดนามผ่านระบบ MOU เพื่อให้มาทำในอาชีพแม่บ้าน ก่อสร้างและประมง เนื่องจากประเทศต้นทางต้องการให้ประเทศไทยนำเข้าแรงงานของเขาผ่านระบบ MOU หลังพบแรงงานส่วนใหญ่ลักลอบเข้ามาทำงานในคราบนักท่องเที่ยว ราว 50,000 คน แต่การนำเข้าจะต้องเป็นตามความต้องการของนายจ้างไทย จากการสำรวจพบต้องการแรงงานเวียดนาม อยู่ประมาณ 3,200 คน .-สำนักข่าวไทย