กรุงเทพฯ 29 ส.ค.- สปส.จับมือ รพ.จุฬาภรณ์ ดูแลผู้ประกันตนป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไม่สำรองจ่ายและจ่ายส่วนต่าง
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และสำนักงานประกันสังคม ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมสถาบันจุฬาภรณ์
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการบริการสาธารสุขและสุขภาพของผู้ประกันตน โดยพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จัดบริการการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบทั้งสิ้น 12,840,493 คน
ขณะที่ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ย 7,000 ล้านบาทต่อปี ปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึง 54,530 ราย เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน ส่งผลกระทบสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงาน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่หากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ทันเวลา จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลง กลับคืนสู่การทำงานได้ตามปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง ดังนั้น การลงนามข้อตกลงการให้ บริการทางการแพทย์ตามโครงการรักษาหัวใจ 7/24 เฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานประกันสังคม และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่เป็นอีกสถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพหัวใจของคนไทย ซึ่งผู้ประกันตนหรือผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทำงานสามารถเข้ารับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยไม่ต้องสำรองจ่ายหรือจ่ายส่วนเกิน ภายใต้การทำหัตถการ 7 หัตถการ ประกอบด้วย1) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
2) การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจและขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน 3) การศึกษาสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ และการจี้ไฟฟ้าหัวใจ 4) การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ไฟฟ้าในการสร้างภาพ 3 มิติ 5) การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรชนิดสองห้อง 6) การใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจถาวร และ 7) การใส่เครื่องสมานฉันท์หัวใจ ในภาวะหัวใจล้มเหลว ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือการรักษาที่ทันสมัยและพร้อมดูแลผู้ประกันตนทุกสถานการณ์หัวใจตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องได้รับการรักษาตามแผนการรักษา 7 รายการข้างต้น โรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ประกันตน สามารถส่งตัวผู้ประกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้ หรือกรณีผู้ประกันตนประสงค์จะเข้ารับการรักษาที่นี่ก็สามารถติดต่อเข้ารับการรักษาได้โดยตรง โดยสถานพยาบาลและผู้ป่วย ไม่ต้องสำรองจ่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน หากรักษาแล้วต้องรักษาต่อเนื่อง ณ โรงพยาบาลในสังกัด ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จะเป็นผู้ประสานส่งต่อให้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาตามมาตรฐานสากล และสามารถกลับเข้าทำงานสร้างรายได้ และความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติต่อไป .-สำนักข่าวไทย