กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – ศูนย์เฉพาะกิจฯ ย้ำเข้มแผนระบายน้ำ 5 เขื่อนใหญ่เฝ้าระวังพิเศษ เขื่อนน้ำอูน-วชิราลงกรณปรับแผนเพิ่มระบายน้ำรองรับน้ำไหลเข้าเพิ่มอีกระลอก เขื่อนแก่งกระจานระดับน้ำลดแต่ยังไม่วางใจ จับตาสถานการณ์ฝนต่อเนื่อง พร้อมเตือนพื้นที่ท้ายน้ำรับทราบสถานการณ์จริง
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อวานนี้ พบว่า มีเขื่อนเฝ้าระวังที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ มี 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 557 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 14 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% ปริมาณน้ำไหลเข้า 21.00 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มจากเมื่อวานนี้ 5.35 ล้านลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลออก 7.21 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มจากเมื่อวาน 1.05 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้มีการแจ้งเตือนให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ และนครพนม เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้น
เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,043 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 11 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 91% ขณะที่ปริมาณน้ำไหลระบายออก 48.24 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 6.31 ล้าน ลบ.ม.ส่งผลกระทบกับพื้นที่รีสอร์ทที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี แต่น้ำยังไม่สูงกว่าตลิ่ง ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้น 10 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) แต่เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำน้อยที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแควน้อยที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี มีอัตราการไหลลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้นไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำต่อเนื่องด้วย
สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่เฝ้าระวัง 3 อ่างที่มีระดับน้ำลดลง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 760 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากเมื่อวาน 7 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.10 ม. ลดจากเมื่อวาน 14 ซม. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 64 ซม. แนวโน้มลดลง และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง 50 ซม. แนวโน้มทรงตัว แต่ยังคงมีพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าความสูงของคันกั้นน้ำเทศบาล ซึ่งทุกหน่วยหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 7.93 ล้าน ลบ.ม. ลด 0.53 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 6.84 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.77 ล้านลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 80 ซม. ลดลง 11 ซม. และ เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 327 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 5.11 คิดเป็น 84% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 6.79 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออก 11.21 ล้าน ลบ.ม. เท่าเดิม
ทั้งนี้ จากการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ รวมถึงปริมาณฝนที่ตกในหลายพื้นที่ พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำนครนายก แม่น้ำยังที่ อ. เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับเตือนภัย เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ ขณะที่แม่น้ำโขงที่มวลน้ำเคลื่อนผ่านบริเวณ จ.หนองคาย ไปแล้วทำให้บริเวณดังกล่าวมีระดับน้ำลดลง แต่จังหวัดท้ายน้ำจะมีระดับน้ำสูงขึ้น โดยปัจจุบันระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่ จ.นครพนม และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.หนองคาย จ.มุกดาหาร และ จ.อุบลราชธานี
สำหรับช่วงวันที่ 24-29 ส.ค.61 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้ ซึ่งสถานการณ์ฝนวันนี้ (24 ส.ค.) พบว่ายังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 23 จังหวัดภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุบลราชธานี ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.น่าน 104.6 มม. แม่ฮ่องสอน 99.5 มม. แพร่ 82.5 มม. พิษณุโลก 61.6 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี 62.0 มม. อำนาจเจริญ 54.0 มม. สุรินทร์ 39.2 มม. มหาสารคาม 37.8 มม.) ภาคกลาง (นนทบุรี 62.8 มม. กำแพงเพชร 40.4 มม. ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี 61.4 มม. และ ภาคใต้ จ.พังงา 205.5 มม. ภูเก็ต 97.5 มม. สตูล 79.0 มม. ระนอง 70.4 มม. ตรัง 51.0 มม. กระบี่ 39.2 มม.-สำนักข่าวไทย