รัฐสภา 23 ส.ค.- สนช.รับหลักการวาระ 1ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่ครม.เสนอ มั่นใจเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่ชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกรณีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ดำเนินการโดยอิสระให้มีความเหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีความสัมพันธ์กันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุม มีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการให้เงินในการทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างจากที่ควรกำหนด
หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการโดยอิสระทำให้สามารถถ่ายโอนกำไรระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียและมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีเงินได้และสถานะทางการคลังของรัฐอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกรณีดังกล่าวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษา ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับนี้ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทย ไม่สร้างภาระให้กับประชาชน พร้อมทั้งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ พนักงานประเมินรายได้นิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์กัน ต้องมีความโปร่งใสตั้งแต่กระบวนการแรก รวมทั้ง กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดชัดเจนในการตรวจสอบการหลีกเลี่ยงภาษี แต่ต้องเพิ่มเติมรายละเอียดในการทำธุรกิจกรรมระหว่างประเทศ โดยต้องเสียภาษีทั้งสองฝ่ายอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตามสมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุน บางส่วนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม หรือยื่นรายงานหรือเอกสารหลักฐาน โดยแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทถือว่าสูงเกินไป
ซึ่งนายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการถ่ายโอนกำไร เพื่อลดการเสียภาษีที่สูงให้เสียภาษีที่ต่ำลง เพราะสินค้าแต่ละอย่างมีเงื่อนไขในการถ่ายโอนที่แตกต่างกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีอำนาจปรับรายได้ของผู้จ่าย แต่ไม่มีอำนาจปรับรายได้ของผู้ซื้อ หากมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรสามารถปรับรายได้จากทั้งสองฝ่ายได้ง่ายขึ้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามขั้นตอน และจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ในที่สุดที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระ 1 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเห็นด้วย 164 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 19 คน .-สำนักข่าวไทย