สุโขทัย 23 ส.ค. – รองนายกรัฐมนตรีตรวจสถานการณ์ลุ่มน้ำยมที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีจุดเสี่ยงคือ ในตัวเมืองลำน้ำแคบ รับน้ำได้น้อย จึงมีประสบอุทกภัยบ่อยครั้ง
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำที่จังหวัดสุโขทัยร่วมกับนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยาการน้ำแห่งชาติ, นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานซึ่ง ปริมาตรน้ำสูงสุดของลำน้ำยมได้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยเมื่อเย็นวานนี้ไปแล้ว ตัวเมืองสุโขทัยประสบอุทกภัยบ่อยครั้ง เนื่องจากลำน้ำยมที่ไหลผ่านมีลักษณะแคบรับน้ำได้เพียง 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
แม่น้ำยมจากอำเภอศรีสัชนาลัยไหลผ่านอำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง แล้วเข้าสู่อำเภอเมืองสุโขทัย ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำปริมาตรสูงสุดไหลมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลกแล้วเช้ามืดที่ผ่านมา จึงใช้ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์หน่วงน้ำไว้บริเวณหน้าประตู แล้วผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาท ในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนจะผันน้ำลงแม่น้ำน่าน อีกทางหนึ่งผันเข้าแม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยควบคุมน้ำให้ไหลผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ในอัตรา 510ลูกบาศก์เมตรวินาที ซึ่งตัวเมืองรับน้ำได้ถึง 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
แต่เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจึงผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยมในอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรวินาที ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะถูกส่งเข้าคลองตาดินและคลองบางคลองแล้วไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงซึ่งมีน้ำอยู่ประมาณ 45% ยังรับน้ำได้อีกมาก จนสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในช่วงเย็นวานนี้ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 347 ลูกบาศก์เมตรวินาที ต่ำกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังมากจึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาล
ทั้งนี้สำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลกดำเนินการพร่องน้ำในระบบชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่านเพื่อรองรับ และได้สั่งการสำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลกดำเนินการพร่องน้ำในระบบชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่านเพื่อรองรับน้ำจากแม่น้ำยมซึ่งจะต้องผันเข้ามาเก็บไว้ที่ทุ่งบางระกำ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในตัวเมืองสุโขทัย
นอกจากนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่านได้พร่องในแม่น้ำยมสายเก่า (คลองเมม-คลองบางแก้ว) จนถึงระดับที่ต่ำกว่าระดับปกติลงอีก 1-2 เมตร เพื่อเตรียมรับการผันน้ำ จากประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ พร้อมกันนี้ได้พร่องน้ำในแม่น้ำยมสายหลักเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำวังสะตือ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และ ผันน้ำแม่น้ำยม ลงแม่น้ำน่าน ผ่านคลอง DR-2.8 และ DR-15.8 ปัจจุบัน ระดับแม่น้ำยมที่ สถานีวัดน้ำอำเภอบางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 146 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2.83 เมตร
สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดลซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 382,000 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ประมาณ 98 %. คงเหลือ อีก 2% ระหว่างเร่งเก็บเกี่ยว โดยสาเหตุ เก็บเกี่ยวล่าช้า เนื่องจากฝนตกชุกในพื้นที่ เกษตรกรรอเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ข้าวมีความชื้นสูง แต่ขณะนี้พร้อมรับน้ำเข้าทุ่งในกรณีวิกฤต น้ำเอัอล้นตลิ่งทุ่งบางระกำ อำเภอบางระกำและทุ่งแม่ระหัน อำเภอเมืองพิษณุโลก
นอกจากนี้ยังเตรียมแก้มลิง 3 แห่งไว้รับน้ำได้แก่ แก้มลิงบึงขี้แร้ง บึงระมาน และบึงตะเคร็ง จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีน้ำเฉลี่ยร้อยละ 50 รับน้ำได้อีก 16 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับปริมาตรน้ำในลำน้ำยมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกหน่วยงานยังคงเฝ้าระวังจุดเสี่ยงคือ แนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองสุโขทัย ที่อาจมีน้ำผุดลอดกำแพงขึ้นมาได้ ทั้งนี้ได้อุดรอยต่อระหว่างแนวพนังกั้นน้ำเก่ากับแนวใหม่ซึ่งเป็นผลให้ปีที่ผ่านมามีน้ำลอดช่องว่างขึ้นมาแล้ว อีกทั้งใช้กระสอบทรายอุดท่อระบายน้ำ ซึ่งพลเอกฉัตรชัยกำชับให้ติดตามสถานการณ์น้ำและบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเนื่องจากจะยังคงมีฝนจากร่องมรสุมที่จะทำให้ฝนตกในลุ่มน้ำยมต่อไปอีกเป็นระลอกๆ จนกว่าจะสิ้นฤดูกาล – สำนักข่าวไทย