กรุงเทพฯ 17 ส.ค. – ตั้งแต่ปี 62 กฟผ.มีแผนอัพเกรดโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ขึ้นไปให้มีความยืดหยุ่นสูงสามารถปรับลด-เพิ่มกำลังผลิตได้รวดเร็วสอดคล้องกับไฟฟ้าจากโซลาร์เซลที่เข้ามาหรือลดลงได้คล่องตัว
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวในการแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติ IEEE PES GTD ASIA 2019 ว่า ปี 2562 เป็นต้นไป และต่อเนื่อง 3-5 ปี กฟผ.มีแผนที่จะลงทุนปรับปรุงระบบควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าที่ใช้งานปัจจุบัน เน้นเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 300 เมกะวัตต์ขึ้นไปให้มีความยืดหยุ่นผลิตไฟฟ้า โดยสามารถลดและเร่งกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัวเพื่อให้สามารถรองรับการมีไฟฟ้าเข้ามาเสริมของระบบโซลาร์เซลที่การผลิตไฟฟ้าไม่คงที่ เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้กระทรวงพลังงานจะมีโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลมากขึ้น และเมื่อปรับปรุงระบบควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบวกกับโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีความคล่องตัวในการปรับลดและเพิ่มกำลังการผลิตคล่องตัวอยู่แล้ว ทำให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ.สามารถปรับสภาพการผลิตให้สอดคล้องกับการเข้ามาเสริมไฟฟ้าจากโซลาร์เซลได้
สำหรับวงเงินลงทุนปรับปรุงระบบควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้น จะลงทุนโรงละประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยสามารถดำเนินการในช่วงหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งได้ ซึ่งปกติมีแผนซ่อมบำรุงอยู่แล้ว ขณะที่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งวงเงินลงทุนประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลแบบลอยในอ่างน้ำเหนือเขื่อนต่าง ๆ มีการจัดตั้ง ศูนย์พลังงานทดแทนและทดลองพลังงานลมที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ จะลงทุนสร้างสถานีไฟฟ้าระบบดิจิทัลเทคโนโลยีใหม่ โดยจะสร้างเพื่อทดลองนำร่องแห่งแรกในประเทศที่สถานีไฟฟ้าจตุจักร
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน PEA อยู่ในช่วงของการเดินหน้ายุทธศาสตร์พัฒนาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสู่การเป็นการไฟฟ้าแห่งอนาคต “The Electric Utility of the Future” มุ่งเน้นพัฒนาคนด้วยนวัตกรรม พัฒนางานด้วยเทคโนโลยี โดยส่วนหนึ่งของการดำเนินการ คือ ดำเนินการสมาร์ทกริด ระยะที่ 2 และขยายไมโครกริด ที่เชียงใหม่ แม่สะเรียง และขยายไปแม่ฮ่องสอน ตั้งไมโครกริดนำร่องที่เกาะพะลวย อ.สมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
สำหรับการจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติ IEEE PES GTD ASIA 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2562 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค จัดโดยสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ สาขาประเทศไทย และสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ IEEE PES Headquarter ประเทศสหรัฐอเมริกา ชูแนวคิด“BigShiftin Powerand Energy” นับเป็นการจัดครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย และครั้งแรกในประเทศไทย คาดว่าจะมีผู้ชมงาน 15,000 คน.-สำนักข่าวไทย