กทม.15 ส.ค.-กระทรวงศึกษาฯ แก้กฎกระทรวงคุมประพฤตินักเรียน-นักศึกษา ห้ามแสดงพฤติกรรมชู้สาวทุกที่ ทุกเวลา
นายชลำ อรรถธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.)ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการกช. และโฆษกกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอแก้ไขเพิ่มร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา จึงได้มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับ ต่อมา ศธ.ได้ดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2548 เห็นสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียแล้ว
นายชลำ กล่าวต่อว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา ดังนี้
1.กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้ เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม จากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย
3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก
“สาเหตุหลักที่ต้องมีการแก้ไขร่าง กฎกระทรวงฯ เนื่องจากกฎกระทรวงเดิมฯใช้มาเป็นเวลา สถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นต้องปรับแก้เพื่ออุดช่องโหว่ให้ครอบคลุม ให้สถานศึกษาสามารถกำกับควบคุมดูแล นักเรียนได้อย่างเต็มที่เหมาะสม ซึ่งการปรับแก้ดังกล่าวว่าไม่ได้หมายความว่าเด็กมีพฤติกรรมที่แย่ลง ตรงกันข้ามจากข้อมูลพบว่านักเรียนและนักศึกษามีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น ปัญหานักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาทลดน้อย โดยกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ เมื่อมีการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ”นายชลำ กล่าว.-สำนักข่าวไทย