กรุงเทพฯ 11 ส.ค. – ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติสรุปสถานการณ์น้ำมีพื้นที่ 7 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่น้ำเกินเกณฑ์ ส่วนแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำโขงแนวโน้มดีน้ำลดระดับ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ พบว่าในช่วงวันที่ 13-16 ส.ค.นี้ ประเทศไทยจะยังมีฝนตกต่อเนื่อง โดยวันนี้ (11 ส.ค.) จะมีตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง 31 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี และนครสวรรค์ , ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
และภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา
ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 7 จังหวัด ประกอบด้วย สกลนคร มุกดาหาร ปราจีนบุรี ตราด ระนอง พังงา และ สุราษฎร์ธานี
ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มีจำนวน 4 แห่ง คือ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 731 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 49 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ อาจมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ สำหรับพื้นที่ท้ายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 535 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103 สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง
3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,548 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85
และ 4.เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 317 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับค่อยๆสูงขึ้น ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำจากอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ลุ่มน้ำเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน แต่ยังคงมีระดับสูง ส่วนแม่น้ำโขง ระดับน้ำลดลงปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง.-สำนักข่าวไทย