กรุงเทพฯ 8 ส.ค. – การบินไทยตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาดซ่อมเครื่องบินเอเชียร้อยละ 4 ภายใน 10 ปี นับจากเปิดให้บริการ จี้ติดสิงคโปร์ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6 รอลงนามกับกองทัพเรือและอีอีซีเพื่อเข้าใช้พื้นที่
นายสุรชัย เพียรเจริญศักดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายช่างบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) บนพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ขณะนี้การบินไทยเตรียมความพร้อมที่จะลงนามความร่วมมือกับกองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อได้สิทธิ์เข้าใช้พื้นที่ 210 ไร่ และเมื่อมีการลงนามจะนำเรื่องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้ความเห็นชอบก่อนที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างโรงซ่อมและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อยู่ในโรงซ่อมหรือแฮงก้า รวม 6,333 ล้านบาท ขณะเดียวกันการบินไทยและบริษัทผู้ร่วมทุนจะลงทุนอุปกรณ์ที่จำเป็นอีกประมาณ 4,000 ล้านบาทโดยลงทุนฝ่ายละแบ่งจ่ายฝ่ายละครึ่งหรือฝ่ายละประมาณ 2,000 บาท ส่วนเอกชนผู้ร่วมทุนคาดว่าจะคัดเลือกได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้
สำหรับ TG MRO Campus ระยะแรกจะเปิดให้บริการปี 2565 โรงซ่อมหรือแฮงก้า มีขนาดใหญ่เท่ากับการบินไทยมีอยู่ในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิสามารถรองรับเครื่องบิน 80-100 ลำ ขึ้นกับขนาดของเครื่องบินที่เข้ามาใช้บริการ จำนวนเครื่องบินเข้าใช้บริการในช่วงแรกคาดว่าจะมีประมาณ 10 ลำ และยังมีเครื่องบินของการบินไทยเข้ามาใช้บริการด้วย ด้านการเติบโตของตลาดซ่อมบำรุงอากาศายานคาดว่า ยอดการใช้บริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปีในช่วง 50 ปี สำหรับรายได้ช่วงเปิดให้บริการคาดว่าจะอยู่ที่ปีละประมาณ 400-500 ล้านบาท และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น โดยจุดคุ้มทุนจะอยู่ปีที่ 11 หลังเปิดให้บริการในปี 2565 รายได้ตลอด 50 ปี รวมประมาณ 200,000 ล้านบาท จากปัจจุบันการบินไทยมีรายได้จากลูกค้าภายนอกใช้บริการซ่อมบำรุงที่ศูนย์ซ่อมที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท
ปัจจุบันศูนย์ซ่อมอากาศยานในประเทศสิงคโปร์ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6 ของการซ่อมบำรุงทั้งหมดในตลาดเอเชีย ขณะที่การบินไทยตั้งเป้าจะมีส่วนแบ่งให้ได้ที่ร้อยละ 4 ภายใน 10 ปีนับจากปี 2565 ตลาดเป้าหมายกลุ่มแรก คือ เครื่องบินจากสายการบินในประเทศ เครื่องบินของการบินไทยเอง รวมถึงเครื่องบินของกลุ่มสายการบินในตลาดเอเชีย-แปซิฟิก โดยประเทศเวียดนามถือเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่ง เนื่องจากมีการสั่งซื้อเครื่องบินมาก รวมถึงตลาดประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีค่าแรงแพงกว่าจึงมีโอกาสที่จะมาใช้บริการซ่อมในประเทศไทยได้ ตลาดยุโรปก็มีค่าแรงสูงก็มีโอกาสเข้ามาใช้บริการเช่นกัน
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งใหม่นี้ ถือว่ามีความทันสมัยและครอบคลุมการบริการด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ให้บริการตั้งแต่การซ่อมบำรุงย่อยไปถึงการซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับเครื่องบินในหลากหลายประเภทตามมาตรฐานระดับสากล สามารถรองรับ ตลาดเครื่องบินที่ใช้ในเอเชียทั้งหมดคลอบคลุมท้ังโบอิ้งและแอร์บัส โครงการระยะ 2 จะขยายในช่วงปี 2583. -สำนักข่าวไทย