กทม.6 ส.ค.- ตำรวจจับชาวไทยร่วมชายตุรกีหลอกให้ร่วมลงทุนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ มีเหยื่อจำนวนมากหลงเชื่อสูญเงินรวมกว่า 200 ล้าน
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สอบปากคำนางสุณีย์ ประดิษฐ์ดี, นางสาวอาริยา ท้วมทอง และ นางสาวสุมารินทร์ สุวรรณเทพ ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกง
สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายร้องเรียนว่าถูกผู้ต้องหาทั้ง 3 คน รวมถึงนายฮาลิล เซอร์แคน เติร์กเมน ชาวตุรกี และนางสาวจุรีพร รุ่งเรือง ภรรยาชาวไทย ซึ่งยังหลบหนีหลอกให้ร่วมลงทุน โดยทั้งหมดได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด สยาม เรียล กรุ๊ป ขึ้นมาจริง จากนั้นได้หลอกลวงผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ด้วยการตั้งกลุ่มขึ้นมาหลอกเหยื่อให้ร่วมลงทุนแลก เปลี่ยนเงินตรา มีเหยื่อลงเชื่อร่วมลงทุนตั้งแต่ 500 – 100,000 บาท จำนวน 2,0000 คน มีเงินลงทุนรวมกันกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งผู้ต้องหาได้เปิดบริษัทเมื่อเดือนมิถุนายน และได้โหมระดมทุน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ จนมีเหยื่อหลงเชื่อ กระทั่งปิดเว็บไซต์ไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างกับผู้เสียหายว่า ปิดเพื่ออัพเดตระบบข้อมูล
ตำรวจให้ข้อมูลว่า มีต้องหาหลบหนีออกนอกประเทศ 2 คนคือ นายฮาลิล และ นางสาวจุรีพร โดยทันยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกจากบัญชี คาดอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน
นางสุณีย์ฯ ยอมรับว่า เดินทางไปเปิดบัญชีธนาคารกับนางสาวจุรีพรฯ บุตรสาวจริง แต่ไม่ทราบว่าเป็นการไปเซ็นเอกสารเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อรอรับเงินจากกลุ่มผู้เสียหายที่โอนมาลงทุน และไม่รู้ว่าลูกสาวเปิดบริษัทต้มตุ๋นคนจำนวนมาก
ด้านนางสาวอาริยา และ นางสาวสุมารินทร์ ยอมรับว่า ได้เซ็นเอกสารบัตรประชาชนให้กับนางสาวจุรีพรไปจริง แต่ไม่ทราบว่าเป็นการนำเอกสารไปขอจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด สยาม เรียล กรุ๊ป เพื่อหลอกลวงคนไทยด้วยกัน ซึ่งทั้ง 3 คนยืนยันว่าไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการหลอกลวงของนางสาวจุรีพรและนายฮาลิล จึงอาจตกเป็นเหยื่อเช่นกัน แต่คำกล่าวอ้างนี้ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ ต้องสอบปากคำให้ชัดเจนก่อน
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีเหยื่อหลงเชื่อจำนวนมาก เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหาอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงร้อยละ 1.5 ต่อวัน หากลงทุน 500 – 250,000 บาท หรือได้ผลตอบแทนร้อยละ 1.8 ต่อวัน หากลงทุน 250,000 – 1,000,000 บาท และหากลงทุน 1,000,0000 บาทขึ้นไป จะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อวัน นอกจากนี้ผู้ต้องหายังนำผลตอบแทนต่อวัน ไปโชว์ไว้ในพอร์ตลงทุนของผู้เสียหาย จึงเชื่อว่าได้เงินจริงๆ แม้ถอนออกมาไม่ได้ก็ตาม ขณะที่ทราบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของผู้ต้องหา มีการจดทะเบียนจริง มีทุนประเดิม 1,000,0001 บาท เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่เป็นการนำชื่อของบุคคลอื่นไปจดทะเบียน จึงฝากไปยังให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะกลุ่มมิจฉาชีพอาจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อบังหน้าเพื่อการหลอกลวง หลังจากนี้เตรียมประงาน ปปง. ตรวจเส้นทางการเงินจำนวน 200 ล้านบาทดังกล่าวว่าถูกยักย้ายถ่ายเทไปที่ใด เพื่อขยายผลจับกุมผู้ต้องหาอีก 2 คนที่ยังหลบหนี.-สำนักข่าวไทย