รพ.จุฬาฯ 3 ส.ค.-เสวนาวิชาการ เรื่อง‘ถ้ำหลวง ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่’ นักวิชาการชี้ให้บทเรียนการเฝ้าระวังโรค และเตรียมนำมาปรับใช้เฝ้าระวังในการท่องเที่ยว และสอนให้นักท่องเที่ยวรู้จักหลักสากลเที่ยวถ้ำต้องสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันตนเอง ไม่รับเชื้อจากธรรมชาติ
ในการเสวนาวิชาการถ้ำหลวง:ความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากเหตุการณ์ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน 13 หมูป่าอะคาเดมี่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน แม้ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี แต่เรื่องนี้ให้บทเรียนในการเฝ้าระวังโรคจากธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ทั้งสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ เห็บ หมัด ลิ้น ไร ค้างคาว ซึ่งสอนและให้บทเรียนการปฏิบัติตัวเมื่อเที่ยวถ้ำควรทำอย่างไร โดยโรคที่เฝ้าระวังในเบื้องต้น เป็นการสันนิษฐานในกลุ่มแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ ว่าควรมีโรคอะไรบ้าง ทั้งโรคจากสภาพแวดล้อม โรคจากสัตว์ และที่ลืมไม่ได้คือ โรคตามตะเข็บชายแดน
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรค แม้ว่าทุกคนจะแข็งแรงแล้ว และโอกาสเกิดโรคน้อยมาก. ร้อยละ 99 ไม่มีโรคแล้ว แต่การเฝ้าระวังยังคงต้องมีอยู่อย่างน้อย 1 ปีครึ่ง โดยทุกคนที่เข้าไปภายในถ้ำจะได้รับบัตรสุขภาพประจำ เพื่อไว้รายงานตัว เพราะในอดีตการติดเชื้อนิป้าไวรัส คนที่ติดเชื้อโรคนี้ 24 เดือนถึงจะแสดงอาการ พบว่า มีเชื้อแฝงในเนื้อสมอง
อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เตรียมปรับปรุงแผนที่โรคที่จะเป็นการเฝ้าระวังโรคจากเห็บ หมัด ริ้น ไร ตามผืนป่าธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ที่บริสุทธิ์ หรือตามตะเข็บชายแดน ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ร่วมกับกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ (AFIMS)เพื่อให้รู้จักเฝ้าระวัง โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากทั้งกับนักท่องเที่ยว หรือ แม้แต่ทหารเกณฑ์ที่ปฏิบัติหน้าตามตะเข็บชายแดน
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อานิสงค์ของการติดข่าวถ้ำหลวง ทำให้คนรู้จักหลักมาตรฐานสากลในการเที่ยวถ้ำ ทั้งการสวมหมวกเดินป่า และการใส่หน้ากากอนามัย ทั้งเป็นการป้องกันการรุกล้ำสิ่งแวดล้อมและป้องกันตนเอง ซึ่งต่อไปจะได้มีการเผยแพร่เรื่องนี้ให้ทุกคน ผู้นิยมท่องเที่ยวเข้าใจมากขึ้น
นพ.โรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง เป็นสิ่งสุดท้ายที่คนจะนึกถึงเพราะส่วนใหญ่ให้น้ำหนักเรื่องของการรักษาโรค แต่ความจริงแล้วมีส่วนสำคัญมาก เพราะสถานที่เด็กๆเข้าไป เป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย หรือมีมนุษย์ อาศัย จำเป็นต้องมีการตรวจอย่างละเอียด โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น อาจมองว่ามากแต่นับว่าคุ้มค่า เพราะเป็นการเฝ้าระวังในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยโรคที่เป็นสมมุติฐาน มีตั้งแต่ โรคจากสัตว์ โรคจากสิ่งแวดล้อม และโรคตามตะเข็บชายแดน ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้น ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ภาพรวมของประเทศ .-สำนักข่าวไทย