กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- กฟน.คาดปีนี้กำไร
8 พันล้านบาท เดินหน้า Smart Metro มหานครไร้สาย นำนวัตกรรมมาพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้า
หวังช่วยอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Doing Business) ขยับดีขึ้น
วันนี้
(1 สิงหาคม 2561) นายชัยยงค์ พัวพงศกร
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนา กฟน. ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งสู่ปีที่ 61
อย่างมั่นคง จากความมุ่งมั่นในการบริหารงาน
คาดว่าผลประกอบการประจำปี 2561 นี้
การไฟฟ้านครหลวงจะมีกำไรสุทธิประมาณ 8,000 ล้านบาท
และมีสินทรัพย์รวมมากกว่า 210,000 ล้านบาท
ฐานะทางการเงินมั่นคง และมีความสามารถในการลงทุนและชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในปีนี้ กฟน. เร่งเดินหน้าแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน
ในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
พร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสาร
เพื่อขับเคลื่อนการเป็น “มหานครไร้สาย Smart Metro” ปัจจุบัน กฟน.
ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 45.6
กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 169 กิโลเมตร โดยในปีนี้ กฟน. ยังมีพื้นที่จะดำเนินการ ได้แก่ โครงการนนทรี
โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการรัชดาภิเษก-อโศก โครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
(ลาดพร้าว-สำโรง) และโครงการตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)
ถนนนานาเหนือ และถนนวิทยุ
ในด้านการพัฒนาคุณภาพงานบริการนั้น
กฟน. มุ่งมั่นพัฒนาระบบการให้บริการและยกระดับคุณภาพงานบริการอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งเป็นหน่วยงานให้บริการด้านระบบไฟฟ้าตัวแทนประเทศไทย ในการพิจารณาในการจัดอันดับความยาก-ง่าย
ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Doing Business) ของธนาคารโลก
(World Bank) กฟน. ปรับปรุงกฏระเบียบ
และพัฒนานวัตกรรมด้านงานบริการต่อเนื่อง
ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย
MEA Smart Life Application และทางเว็บไซต์บริการขอใช้ไฟฟ้า MEASY
อยู่ที่ไหนก็ขอใช้ไฟฟ้าได้ ทราบค่าใช้จ่ายทันที
พร้อมชำระค่าบริการได้หลายช่องทางและติดตามสถานะการดำเนินงานได้ทุกขั้นตอน
ประกอบกับ
กฟน. มีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแผนที่ฐานเชิงรหัส (แผนที่ดิจิทัล) มาตราส่วน 1:1000
สารสนเทศเชิงพื้นที่ (Spatial Map) ที่ทันสมัยได้มาตรฐานมีความละเอียดและแม่นยำสูง
และมีการจัดอบรมมาตรฐานการติดตั้งสายภายในให้แก่ผู้รับเหมาระบบไฟฟ้า
ทั้งในกลุ่มบ้านพักอาศัย และกลุ่มธุรกิจ ทั้งหมดนี้ช่วยให้ระบบให้บริการ กฟน.
สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลให้การจัดลำดับ Doing Business ของประเทศไทยด้านการขอใช้ไฟฟ้า
ในปี 2562 ที่จะถึงนี้ ดีขึ้นกว่าปี 2561 ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และจะเป็นผลให้การขอใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย
สะดวกรวดเร็ว ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย
รวมถึงการพัฒนาช่องทางการชำระค่าไฟฟ้าเพื่อความสะดวกเพิ่มเติม โดยร่วมมือกับ
ธ.กรุงไทย พัฒนาระบบการรับชำระค่าไฟฟ้าจากลูกค้าด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามธนาคาร (QR
Code Cross Bank) โดยใช้การสแกน QR Cross Bank บนใบแจ้งค่าไฟฟ้าได้ทันที-สำนักข่าวไทย