ก.ยุติธรรม 19 ก.ค.-เลขาธิการ ป.ป.ท.เผยมีนักลงทุนต่างชาติร้องทุกข์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ กว่า30เรื่อง เร่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว2เรื่อง
พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตในภาครัฐ (เลขาธิการ ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (19ก.ค) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการอิสระต่อต้านการทุจริตของฮ่องกง(Independent Commission Against Corruption: ICAC) ได้ทำข้อตกลงระหว่าง 2 หน่วยงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย
หลังจากก่อนหน้านี้ ป.ป.ท.ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจแล้วถูกเรียกรับผลประโยชน์หรือต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งที่ผ่านมาพบ มีการรับเรื่องร้องทุกข์จากนักธุรกิจต่างชาติประมาณ 30 เรื่องซึ่งหลายเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ในจำนวนนี้มี 2 เรื่องที่ ป.ป.ท.ได้เสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 2 เรื่อง คือ คดีนายสงบ หอมสมบัติ และนายไพโรจน์ ทินโน เจ้าหน้าที่เทศกิจเขตปทุมวัน กทม.กรรโชกทรัพย์ชาวต่างชาติบริเวณคลองหลอด เมื่อปี 2559 และคดีทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียในพื้นที่สภ.กระทู้ อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต ปี 2558 โดยคดีนี้ป.ป.ท.ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลียให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น จนมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯไต่สวนข้อเท็จจริง
“เมื่อวันที่18ก.ค.ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงฯชุดดังกล่าวป.ป.ท.ได้มีการพิจารณาคดีเจ้าหน้าที่เทศกิจกทม.ทำร้ายนักท่องเที่ยวแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านมาทางกทม.ได้ลงโทษเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวด้วยการไล่ออกแล้วก็ตาม แต่ในส่วน ปปท.จะต้องดำเนินการทางวินัยและอาญาด้วย”เลขาธิการฯป.ป.ท.กล่าว
พ.ท.กรทิพย์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น หรือร่วมทุนในบริษัทต่างชาติให้ความสนใจ และส่งเรื่องร้องทุกข์เข้ามา ทั้งเรื่องปัญหายาเสพติด การถูกเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้ การถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกายฯลฯ ดังนั้น การมีองค์กรต่างประ เทศเข้ามาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ ให้กับ นักธุรกิจที่ประสบปัญหาดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้มากขึ้นและทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะการประเมินดัชนีภาพลักษณ์การคอรัปชั่นในภาครัฐ( CPI).-สำนักข่าวไทย