กรุงเทพฯ 18 ก.ค. – ส.อ.ท.เตรียมจัดทำแนวทางส่งเสริมใช้สินค้าไทย ผ่านเคมเปญเมดอินไทยแลนด์ เสนอรัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถาบัน IEC สภาอุตสาหกรรมฯ อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการศึกษาส่งเสริมการใช้สินค้าไทยหรือเมดอินไทยแลนด์ โดยเห็นว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของไทยปัจจุบันถือว่ามีคุณภาพปรับปรุงดีขึ้นกว่า 20 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความเชื่อมั่นสินค้าไทย แต่เมดอินไทยแลนด์เกิดขึ้นในขณะที่สงครามการค้ารุนแรงมากขึ้นก็จะต้องไม่ให้มีปัญหาในเรื่องที่ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกกับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ด้วย
ดังนั้น คนไทยควรจะเชื่อมั่น ปัจจุบันอุตสาหกรรมทันสมัยมีความแข็งแรงภาครัฐต้องให้การสนับสนุน วันนี้ส.อ.ท.ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น การใช้เงินภาครัฐมีจำนวนมหาศาล จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีคุณภาพ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตและคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ที่มีมาก 20-30 ล้านคนดีขึ้น ช่วยลดปัญหาการเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง หากไม่ช่วยภาคอุตสาหกรรมไทยแล้วจะเป็นการช่วยให้ต่างประเทศเติบโต
นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. คาดว่า ปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม (E&E) จะโตร้อยละ 5 มูลค่าส่งออก 63,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์เติบโตร้อยละ 7 มูลค่า 39,061 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตร้อยละ 3 มูลค่า 24,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรอบ 4 เดือนแรกปีนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญและมีมูลค่าสูง ได้แก่ ตลาดอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 19 รองลงมาคือ ตลาดสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 17 และตลาดสหภาพยุโรปร้อยละ 15 สำหรับสินค้าส่งออกสูงสุดในกลุ่ม คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มูลค่า 5,037 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มกำลังติดตามปัญหาเกี่ยวเนื่องจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพราะมีประเด็นการตีความยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐชะลอการซื้อสินค้า ซึ่งกระทบผู้ผลิตในประเทศและเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งประเด็นจากร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับล่าสุด ( 34 มาตรา) ยังขาดความชัดเจนหลายประเด็น ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบด้าน -สำนักข่าวไทย