สพฉ.15 ก.ค.-หลังเหตุการณ์ 13 ชีวิตหมูป่าติดถ้ำ สพฉ.เร่งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กเรียนรู้การเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ 7 ด้าน เนื้อหาใกล้เสร็จแล้ว เหลือการออกแบบสื่อการเรียนการสอน ให้เหมาะกับเด็กแต่ละวัย-แต่ละชั้นเรียน
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(รองเลขาธิการ สพฉ.)กล่าวว่า จากกรณีเหตุการณ์นักฟุตบอลเเละโค้ช ทีมหมูป่าอะคาเดมีเเม่สาย 13ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวง ทำให้เรื่องการเตรียมการรับมือภัยพิบัติสำหรับเด็กๆและเยาวชน เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันในสังคมขณะนี้นั้น ในเรื่องการสอนให้เด็กเตรียมรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงให้รู้วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นเรื่องจำเป็นที่ควรมีการบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันฯเคยจัดเวทีระดมความเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งองค์กรเอกชน มูลนิธิ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกระทรวงศึกษาฯ เพื่อช่วยกันสร้างร่างหลักสูตรการการเรียนการสอนเด็กๆให้รู้จักเอาตัวรอดจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งหลังระดมความคิดเห็นผ่านการทำ work shop กับหลายหน่วยงาน ก็ได้คลอดร่างคู่มือต้นแบบออกมา 7เรื่องเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและวิธีปฏิบัติจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ
รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าวต่อว่า หลักสูตร 7 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การเรียนรู้การเอาตัวรอดจากจากการเดินเท้า ทั้งบนฟุตบาธทางเดินหรือการข้ามถนน เพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนจะเหมาะสมหรับเด็กประถมศึกษาปีที่1ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการขับขี่รถอย่างปลอดภัยที่จะใช้สอนเด็กในวัยมัธยมด้วย
2.หลักสูตรให้เด็กได้เรียนรู้และรับมือโรคจิตเวช คือเตรียมรับมือกับเรื่องภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียดที่จะพบเห็นเด็กๆเครียดซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเยอะ ดังนั้นควรได้เรียนรู้วิธีการสังเกตตนเอง และหาทางออกให้กับตนเองในอาการเหล่านี้ได้ ถ้าได้เรียนรู้ผ่านหลักสูตรของเรา
3.หลักสูตรเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบ พลัน ซึ่งเด็กจะต้องเรียนรู้อาการเบื้องต้นของโรคที่ทำให้เกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ปากเบี้ยวแขนขาอ่อนแรงต้องช่วยเหลือตนเองอย่างไรหรือช่วยเหลือคนมีอาการเหล่านี้อย่างไรและควรได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์กี่ชั่วโมงเด็กๆ ต้องรู้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ในบทเรียนนี้
บทเรียนที่ 4 การเรียนรู้อาการโรคภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งในบทเรียนสอนให้เด็กสังเกตอาการผู้เป็นโรคนี้ เช่นหากเจ็บหน้าอกใจสั่นเหมือนจะเป็นลม ต้องรู้ว่าอาการเหล่านี้เข้าข่ายโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดสมอง หรือจะเรียกคนให้มาช่วยได้อย่างไร และจะได้เรียนรู้เรื่องการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ด้วย
หลักสูตรที่ 5 เรียนรู้การเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัยและอุทกภัยในทุกๆกรณี ทั้งไฟไหม้ จมน้ำ เช่น การตะโกนโยนยื่น และฝึกลอยตัวในน้ำเพื่อรอความช่วยเหลือได้ โดยหลักสูตรที่ร่วมกันออกแบบทุกอันจะสอนให้เด็กๆ เอาตัวรอดจากเหตุการณ์เหล่านี้และแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เป็นได้
6.หลักสูตรเรื่องการเรียนการสอบเกี่ยวกับการทำ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น และสามารถที่จะช่วยผู้อื่นด้วยการทำ CPR ได้
และ7.หลักสูตรเรื่องการเรียนรู้การใช้งานเครื่องAED เบื้องต้น ซึ่งเด็กๆ ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องการใช้งานเครื่อง AED ให้เป็น
‘สิ่งเหล่านี้กำลังพยายามผลักดันกับหลายหน่วยงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ขณะนี้เนื้อหาทั้งหมดทำเกือบเสร็จแล้วเหลือแค่การออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละวัยและแต่ละชั้นเรียน’ รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว
ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวในแถบภูเขา ทะเล หรือป่าอุทยาน ต้องจัดให้มีองค์ความรู้เช่นกัน เพราะโดยตัวนักเรียนหรือประชาชนที่จะเข้าไปในพื้นที่ก็ไม่สามารถคาดได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น การสอนให้เตรียมตัวล่วงหน้าเป็นสิ่งจำเป็น เช่น หากไปเที่ยวทางน้ำเด็กๆต้องรู้วิธีสวมเสื้อชูชีพ รู้คุณสมบัติของชุดชูชีพว่าช่วยได้อย่างไร ส่วนการปีนเขาหรือไปเที่ยวถ้ำ ต้องรู้ว่า 3 สิ่งที่จำเป็นมากคือเรื่องไฟฉายที่ให้แสง นกหวีดที่ทำให้เกิดเสียงได้ และอีกอย่างคือเชือกและการใช้เชือกก็จะมีความสำคัญที่จะช่วยเหลือได้ในหลายลักษณะ .-สำนักข่าวไทย