กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – โรงงานน้ำตาลเสี่ยงขาดทุน จากวิกฤติราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำเหลือ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ด้าน สอน.เดินหน้ารับฟังผลกระทบ พ.ร.บ.อ้อยฯ ย้ำเป็นธรรมทุกฝ่าย
รายงานข่าวจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายระบุว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำอย่างมากอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลทันที โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีกว่า 50 โรงงานทั่วประเทศ ขณะนี้รายได้ที่ได้รับการจัดสรรร้อยละ 30 ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 แม้ปีนี้จะมีผลผลิตอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 135 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลภาพรวมกว่า 13 ล้านตันก็ตาม แต่โรงงานน้ำตาลในภาพรวมยังคงมีความเสี่ยงว่ารายได้ที่ได้รับร้อยละ 30 นั้น จะเพียงพอหรือไม่ กับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนผลิตน้ำตาล และบางรายมีต้นทุนสูงอาจมีภาวะเสี่ยงที่จะขาดทุน เพราะมีรายได้ลดลงอย่างมากจากผลกระทบวิกฤติราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำได้
สำหรับราคาน้ำตาลปัจจุบัน ถือเป็นระดับราคาที่ตกต่ำ ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลในช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ทันที โดยมีระดับความรุนแรงของผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งระดับผลกระทบพิจารณาได้จาก ลักษณะการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ หากรายใดดำเนินธุรกิจเชิงเดี่ยวเพียงโรงงานน้ำตาลเท่านั้น ไม่ได้กระจายความเสี่ยงด้วยการขยายไปทำธุรกิจอื่นเพิ่มเติม ผลกระทบก็จะมากกว่าผู้ประกอบการที่มีการกระจายความเสี่ยงขยายไปลงทุนทำธุรกิจที่หลากหลาย เช่น พลังงานไฟฟ้า เอทานอลและกระดาษ และอื่น ๆ เป็นต้น
ส่วนการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างแก้ไข นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้มีประสิทธิภาพและกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้แล้ว ยังเป็นการตามคำมั่นที่ให้ไว้กับรัฐบาลบราซิลด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดเว็บไซต์ของ สอน.เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. ซึ่งเริ่มตั้งแต่วั นที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เพื่อรับฟังความเห็นจากสาธารณะอีกครั้งก่อนจะประมวลข้อคิดเห็นต่าง ๆ เข้ากระบวนการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.และดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายต่อไป
สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หากเกษตรกรมีความต้องการผลประโยชน์เพิ่มเติม หรือเคยได้รับ ก็ควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งโรงงานและเกษตรกร โดยคำนึงถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการลงทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น . – สำนักข่าวไทย