กรุงเทพฯ 11 ก.ค.-หลังกระบวนการช่วยเหลือ 13 หมูป่าอะคาเดมี นอกจากฟื้นฟูร่างกาย ยังต้องเฝ้าระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์อีก 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ ซึ่งทำให้เกิดคำถามโรคอุบัติใหม่จากติดถ้ำ คืออะไร และมีโรคอะไรบ้าง ติดตามจากรายงาน
ความสบายใจเกิดทันที เมื่อทีมแพทย์ยืนยันภาพรวมสุขภาพของทีมหมูป่าอะคาเดมี หลังออกจากถ้ำหลวงว่า แข็งแรง แต่ยังไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเยี่ยมได้อย่างใกล้ชิด ยังต้องอยู่ในห้องกระจกกั้น ป้องกันติดเชื้อจากโรคอุบัติใหม่ โดยโรคอุบัติใหม่ที่ว่านี้ อาจเป็นโรคไม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือ โรคเดิมที่เกิดขึ้นได้ซ้ำ
การติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ในถ้ำ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ทั้งการติดเชื้อจากสัตว์ ค้างคาว เห็บหมัด ติดเชื้อจากน้ำ เช่น โรคฉี่หนู ติดเชื้อดินโคลนขัง เมลิออยโดซิส ทุกโรคให้อาการไม่แน่ชัดแต่รุนแรงถึงชีวิต จึงต้องรอการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การตรวจเชื้อโรคที่คาดว่าจะพบในถ้ำ ใช้วิธีการนำเลือดมาตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อโรค ซึ่งขณะนี้เลือดของน้องๆ ทีมหมูป่าออกจากถ้ำลอตแรกถึงยังห้องปฏิบัติการณ์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ส่วนที่เด็กๆ และทีมสำรวจถ้ำ ยืนยันภายในถ้ำหลวงไม่มีค้างคาว หรือสัตว์อื่น แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด
ขั้นตอนเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ทั้งการแยกโซนพักฟื้น ลดการสัมผัสใกล้ชิด ติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมงแรก จากนั้นติดตามอาการภาพรวมอีก 7-14 วัน ถือเป็นมาตรฐานควบคุมโรคสากล ที่ทุกคนต้องปฏิบัติ หากเผชิญวิกฤติอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดโรค.-สำนักข่าวไทย