สธ.8 ธ.ค.-กรมควบคุมโรค ห่วงนักท่องเที่ยว เดินป่า ตั้งแคมป์ โดยเฉพาะป่าตามแนวชายแดน เสี่ยงไข้มาลาเรีย หลังพบผู้ป่วยไข้มาลาเรียแล้ว กว่า16,000 ราย ชี้หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก ให้รีบพบแพทย์
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปสัมผัสกับอากาศหนาวเย็นตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และบางส่วนมักนิยมกิจกรรมการเดินป่า ตั้งแคมป์ นอนกางเต็นท์ หรือส่องสัตว์ในป่า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีโอกาสถูกยุงกัดและเสี่ยงต่อการป่วยไข้มาลาเรีย โดยเฉพาะผู้ที่นิยมเข้าป่าตามแนวชายแดน เนื่องจากยุงก้นปล่องที่นำเชื้อมาลาเรียจะพบมากบริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ
ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –25 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียในประเทศไทย 16,651 ราย เป็นผู้ป่วยชาวไทย 11,600 ราย และชาวต่างชาติ 5,051 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยลดลงจากปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 18.64 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี ร้อยละ 18.07 รองลงมาคือ 25-34 ปี ร้อยละ 13.77 และ 10-14 ปี ร้อยละ 10.75 ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอพยพข้ามพรมแดนและมีการประกอบอาชีพที่ต้องพักค้างคืนในป่า สวนไร่ ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ยะลา ตาก สงขลา นราธิวาส อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงราย และปัตตานี คิดเป็นร้อยละ 89.67 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้มีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง โดยหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นไข้มาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษารวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ ไข้มาลาเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันท่วงทีและรับยารักษาอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยารักษามาลาเรียตามชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของโรค และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ไม่ควรซื้อยารักษามาลาเรียกินเอง เพราะอาจจะได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ผลทำให้มีการดื้อยา
สำหรับวิธีการป้องกันไข้มาลาเรียคือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำไข้มาลาเรียกัด โดยการสวมเสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาวปกคลุมแขนขามิดชิด ทายากันยุง นอนในที่ที่มีมุ้งชุบสารเคมี ซึ่งมุ้งนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 .-สำนักข่าวไทย