ทำเนียบฯ 3 ก.ค. – ครม.เห็นชอบคงภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 อีก 1 ปี หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ยอมสูญรายได้ 2.58 แสนล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ) ร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปี ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เริ่ม 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่องทั้งการบริโภค การลงทุน ยอมสูญเสียรายได้ 258,000 ล้านบาท บนพื้นฐานกระทรวงการคลังคาดว่าจีดีพีปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.2 นับว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 มีปัจจัยสนับสนุนทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐเริ่มอัดฉีดออกสู่ระบบเพิ่มในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติปรับปรุงแผนบริหารจัดการหนี้ประจำปี 2561 ครั้งที่ 2 ลดลง 4,249 ล้านบาท จากเดิมยอดเงินรวม 1.588 ล้านล้านบาท เหลือ 1.584 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องเสนอขอมติ ครม.ปรับเพิ่มวงเงินก่อหนี้ 13,028 ล้านบาท จากเดิม 171,263 ล้านบาท เพิ่มเป็น 184,287 ล้านบาท แผนบริหารจัดการเงินกู้ครั้งนี้ยังคงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีร้อยละ 42.6 ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 19.6 ในปี 2561 นับว่าอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการใช้เงินช่วยเหลือสวัสดิการให้กับประชาชนรายย่อย เกษตรกร ได้รับการดูแลระยะยาวแบบยั่งยืน ด้วยการจัดสรรงบประมาณประจำปี และยังเปิดช่องให้รับเงินบริจาคจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เงินผลตอบแทนของกองทุน โดยขณะนี้รัฐบาลเกลี่ยงบประมาณผูกพันที่ใช้ไม่หมดตามแผนโอนกลับมาใช้ประโยชน์ 12,730 ล้านบาท ได้กันนำส่งเข้ากองทุนประชารัฐฯ 2,730 ล้านบาท ส่วนอีก 10,000 ล้านบาท นำไปใช้ในการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ โดยกองทุนประชารัฐเพื่อฐานรากตามกฎหมายชั่วคราวเดิมจะมีกฎหมายฉบับใหม่รองรับ ซึ่งได้ใช้เงินจัดสรรผ่านบัตรสวัสดิการในปัจจุบัน
รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การผลิตและบริการทันสมัย เพื่อจัดสรรงบประมาณให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี และมีสัดส่วนของหน่วยงานรัฐต่อเอกชน 30:70 เพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ จึงยกเว้นให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำหนดอัตราเงินเดือน เบี้ยประชุม การพัฒนางาน รองรับขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครม.จึงสั่งการให้ สวทช.ศึกษาทบทวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายบุคลากรไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปีสำหรับองค์การมหาชนที่ไม่ใช่สถาบันวิจัย เพื่อปลดล็อคเพดานเงินเดือน ค่าตอบแทน พิจารณาให้เกิดความเหมาะสม. – สำนักข่าวไทย
