กรุงเทพฯ 23 ก.ย. – พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ทำหนังสือถึง คตร.ขอคำตอบในเดือน ตุลาคม ว่าจะชี้ขาดสัญญาไอพีพี “กัลฟ์” อย่างไร
พล.อ.อนันตพร ซึ่งในอดีต ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ภาครัฐ (คตร.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธาน คตร.เพื่อขอความชัดเจนของมติ คตร.ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร หลังคตร.ตรวจสอบสัญญาโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ของบริษัท Independent Power Development ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บ.กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กับ บ.มิตซุยแอนด์คัมปะนี (ไทยแลนด์) จำกัด กำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์ (MW) โดยขอคำตอบภายในเดือนตุลาคมนี้ เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอความชัดเจน ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ ) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องก่อสร้างสายส่งรองรับ
“แม้ คตร.สมัยตนจะหารือกัน และพบความไม่ชัดเจน เบื้องต้นเห็นว่าควรยกเลิกครึ่งหนึ่ง แต่ เมื่อ ตนไม่ได้ทำหน้าที่ คตร.แล้ว ก็ต้องขอมติ คตร.ที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยแม้เรื่องนี้จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมทุนด้วย แต่หากเราชี้แจงปัญหาชัดเจนก็น่าจะเข้าใจได้ แต่ทั้งนี้ ก็รอ คตร.”พล.อ.อนันตพร กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ ทางกฟผ.ระบุว่า หากจะก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าตามสัญญา ซื้อขายไฟฟฟ้ากับ กัลฟ์แล้วจะต้องสรุปเสนอ ครม.ในปลายปีนี้ วงเงินลงทุนสายส่ง7,250 ล้านบาท
ทั้งนี้ การประมูลไอพีพี รอบ 3 เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)เปิดประมูลต้นปี 2556 มีผู้เสนอ 9 ราย ใช้วิธีคัดเลือกกลุ่มข้อเสนอราคาค่าไฟเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักภาพรวม (WALUP) 6 ปีจากข้อกำหนดจ่ายไฟฟ้าช่วงปี พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งกัลฟ์ฯ เสนอราคาค่าไฟเฉลี่ยต่อหน่วยตลอดอายุโครงการ 25 ปี ถูกสุดคือ 4.2372 บาทต่อหน่วย ปริมาณไฟฟ้า 5,000 เมะกวัตต์ จำนวน 2 สัญญา หรือ 2 พื้นที่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี โดย กกพ.ระบุว่าการเลือก กัลฟ์ฯทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าตลอดสัญญาได้ 32,163 ล้านบาท
แต่ภายหลังมีการร้องเรียนการคัดเลือกหลายประเด็น เช่น ข้อเสนอไม่ได้พิจารณาเรื่องต้นทุนต่ำสุดที่แท้จริง และต้นทุนที่ กฟผ.จะต้องสร้างสายส่งไปรองรับ-สำนักข่าวไทย