บุรีรัมย์ 2 ก.ค.-ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) ประเมินตลาดรถยนต์ปีนี้
จะมียอดขายเติบโตประมาณร้อยละ 10
ส่งผลบวกสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้ขยายตัวตามไปด้วย ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ในส่วนเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัวร้อยละ
20 ในปีนี้
นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ
รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า
ตลาดรถยนต์ในปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตจากปีที่แล้ว โดยยอดขายรถยนต์ใหม่ 5 เดือนแรกปีนี้ ขยายตัวร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
และคาดว่า ครึ่งปีหลังตลาดรถยนต์จะขยายตัวต่อเนื่อง
และภาพรวมตลอดปี 2561 คาดว่าตลาดรถยนต์ใหม่จะเติบโตประมาณร้อยละ
10 โดยมียอดขายรถยนต์รวมประมาณ 950,000 -1,000,000 คัน
ขณะที่การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561
ธนาคารธนชาตมียอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์แล้ว 380,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีที่แล้ว โดยร้อยละ 70 เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ ร้อยละ 20
เป็นสินเชื่อรถยนต์มือสอง ที่เหลือร้อยละ 10
เป็นสินเชื่อรถแลกเงิน ซึ่งในปีนี้ ธนาคารธนชาตตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ในส่วนเช่าซื้อรถยนต์รวมประมาณ
180,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20 ซึ่งหากตลาดรถยนต์ยังขยายตัวได้มาก อย่างนี้
จะทำให้การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยายตัวได้ดีตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ธนาคารธนชาตได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขึ้นอีกร้อยละ0.20
ต่อปี แต่เป็นการปรับขึ้นเฉพาะในส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อที่เป็นโปรโมชั่น
โดยเป็นการปรับขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่า
น่าจะปรับขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ขณะเดียวกัน ปีนี้ธนาคารได้ปรับปรุงบริการรองรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่
โดยนำระบบ “O to O” หรือ Online to
Offline มาใช้ในสินเชื่อรถยนต์ เน้นบริการผ่านช่องทางดิจิทัลด้วยโมบายแอพพลิเคชั่น
Thanachart Connect ให้ลูกค้าสมัครขอสินเชื่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่เช่าซื้อรถยนต์ภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารเริ่มทดลองใช้งานระบบ “O to O” เมื่อ
2 – 3 เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ
ธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า ธนาคารมีแผนปรับปรุงรูปแบบการให้บริการของสาขาในเชิงรุก
คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ปรับเปลี่ยนการบริการไปสู่รูปแบบการให้คำปรึกษาในเชิงลึก
นำร่องพัฒนาปรับโฉมสาขาให้ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ส่วนนโยบายการปิดสาขา
ธนาคารจะลดสาขาที่ไม่มีความจำเป็นเท่านั้น เช่น สาขาที่อยู่ใกล้กัน
ซึ่งมีที่มาจากการควบรวมกิจการก่อนหน้านี้ ก็จะลดมารวมเป็นสาขาเดียวกัน
โดยถ่ายโอนลูกค้าไปอยู่สาขาเดียว ซึ่งเสียงสะท้อนของลูกค้าก็ไม่มีปัญหาอะไร
เพราะเป็นสาขาทิ่อยู่ใกล้กันอยู่แล้ว–สำนักข่าวไทย