กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – กฟผ.จ้างไออีเอ-ม.ฮาวายศึกษารับมือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ชี้จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองได้รวดเร็ว แนะจับคู่พลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงหลักเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาสื่อมวลชนในหัวข้อ “เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกพลังงาน” นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า ระบบไฟฟ้าไทยปัจจุบันเป็นระบบแบบรวมศูนย์ คือ มีโรงไฟฟ้า ระบบส่งขนาดใหญ่ และระบบจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ในอนาคตจะมีกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไปสู่ชุมชน รวมถึงมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น การเดินหน้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต้องรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ทำงานผ่านรีโมทมอนิเตอร์ (Remote Monitor) สามารถเรียกดูข้อมูลและสั่งการจากศูนย์ควบคุมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ต้องบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก ทำให้สามารถคาดเดาหรือพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตได้ ส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่เสถียร ควรพัฒนารูปแบบของการผสมผสานระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงหลัก (RE Hybrid Firm) เพื่อลดความผันผวน สามารถผลิตไฟฟ้าตามระยะเวลาสัญญาที่กำหนด เช่น โซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลมกับเซลล์เชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวมวลกับโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกสำคัญ
ทั้งนี้ กฟผ.ได้ว่าจ้างไออีเอ (ทบวงพลังงานโลก ) และมหาวิทยาลัยฮาวายศึกษาเรื่องการปรับตัวของเมืองไทยใน อนาคตทั้งโรงไฟฟ้า ระบบสายส่งรองรับเทคโนโลยีใหม่ และพลังงานทดแทน ซึ่งเมืองไทยมีความยุ่งยาก เนื่องจากเมื่อพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นแล้วต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาไอพีพี , เอสพีพีจะดำเนินการอย่างไร เพราะเกี่ยวข้องกับค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนที่แม้ไม่ได้เดินเครื่องก็ต้องจ่าย โดยโครงสร้างทั้งหมดจะต้องพิจารณาควบคู่ทั้งต้นทุนความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
นอกจากนี้ ในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพี 2018 ได้ปรับเป็นรายภาคแบ่งเป็น 8 ภาค นโยบายให้มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ในส่วนนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างการขอความเห็นของทุกภาคส่วนว่าจะให้นิยามอย่างไร เช่น ใกล้ Load ไฟฟ้า การจ่ายไฟได้หลายทิศทาง เป็นต้น โดยในส่วนนี้ต้องดูถึงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญว่ามีความอย่างไรด้วย โดยมีข้อความที่ขัดแย้งกันว่าโครงข่ายสาธารณูปโภครัฐต้องมีสัดส่วนร้อยละ 50 และอีกข้อกำหนดอีกด้านระบุว่ารัฐต้องไม่แข่งขันในธุรกิจที่เอกชนแข่งขันได้. – สำนักข่าวไทย