สำนักงานกฤษฎีกา 25 มิ.ย.- กฤษฎีกา ประชุมนัดแรก แก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หลังเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ถึง27 มิ.ย.นี้ ล่าสุดมีผู้เสนอความเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว ร่วม200 ราย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) พร้อม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)ประกอบด้วย พระพรหมมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมส. และ พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมส. ร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็น การจัดทําร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการ กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเจ้าของเรื่อง ที่ห้องประชุมโบราณ ชั้น 2 ตึกเก่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นัดแรก หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ วันที่ 20-27 มิถุนายน เป็นเวลา 7 วัน ผ่านเว็บไซต์ www.krisdika.go.th ว่าด้วย การแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ปรับโครงสร้างองค์ประกอบกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ถวายพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง พระภิกษุที่มีพรรษาสมควร และจริยวัตรเหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ และทรงมีพระราชโองการ ให้กรรมการดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลักเดียวกันนี้ใช้กับการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคด้วยตามที่มีพระราชดําริเห็นสมควร
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ หลังใช้เวลาประชุมร่วม3 ชม. ว่า วันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา เชิญ ตน รองนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และกรรมการมส. มาแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็น เบื้องต้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้นำความคิดเห็นต่างๆตามที่มีผู้เสนอความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ จำนวน ร่วม 200 ราย มาปรับแก้บางส่วนเพื่อให้เหมะสมและสอดคล้องกับร่างเดิม ส่วนรายละเอียดอยากให้รอดูร่างที่ปรับแก้ก่อน ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากยังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่อีก2 วัน ถึง 27 มิ.ย.เป็นวันสุดท้าย หลังจากนั้นต้องรอดูว่าคณะกรรมการกฤษฏีกา จะรวบรวมข้อมูลจัดทำร่างฉบับสมบูรณ์ ส่งให้กับคณะรัฐมนตรี ครม.วันไหน ตนยังไม่สามาถบอกได้
โดย ตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฏหมาย เมื่อกฤษฎีกา ส่งร่างกฏหมาย มายังครม.หากครม.อนุมัติในหลักการ จะเสนอ สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป.-สำนักข่าวไทย
