สำนักข่าวไทย 24 มิ.ย. – ศธ.น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “รู้ รัก สามัคคี” เป็นหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม ในจังหวัดชายแดนใต้
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมเป็นสักขีพยาน การรับมอบบันทึกความเข้าใจในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัย, วิทยาลัยอาชีวศึกษา และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ ที่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี บ้านโสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม และการพัฒนามนุษย์ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และวิทยาลัยอีก 18 แห่งในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งสถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญในการเป็นเวทีทางปัญญา เป็นแหล่งความคิดชี้นำสังคม ตลอดจนเป็นพื้นที่กลางทางความคิด ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่รู้ และสร้างความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาที่คุกคามความมั่นคงของสังคมส่วนรวม รวมทั้งมีบทบาทในการสร้างปัญญาชน และคนดีสู่สังคม ที่จะทำให้สังคมเกิดการพัฒนาสู่ความก้าวหน้าภายใต้วิถีแห่งสังคมของพหุวัฒนธรรมและความหลากหลาย ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งการทำงานครั้งนี้ เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 โดยมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ จนเกิดการรับมอบบันทึกข้อตกลงให้แก่สถาบันการศึกษาในครั้งนี้
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และศาสตร์พระราชา หลักการทรงงานข้อ 23 “รู้ รัก สามัคคี” มาเป็นหลักในการดำเนินงานส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ร่วมมือร่วมใจกันบนพื้นฐานความรักความสามัคคี งานก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ดี พร้อมกำหนดให้มีผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ที่จะเป็นส่วนเชื่อมโยงการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค พร้อมบูรณาการความร่วมมือการทำงานกับทุกภาคส่วน
จึงเชื่อมั่นว่า การเดินไปสู่เป้าหมายการสร้างความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม และการพัฒนา ให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป. -สำนักข่าวไทย