นนทบุรี 21 มิ.ย. – พาณิชย์หารือกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เตรียมยื่น Written Submission ต่อสหรัฐ กรณีนำเข้าสินค้าที่กระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ประธานาธิบดีสหรัฐขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐใช้อำนาจตามมาตรา 232 ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 เปิดการไต่สวนกรณีผลกระทบจากการนำเข้ารถยนต์อเนกประสงค์ รถตู้ รถบรรทุกขนาดเล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐให้เสร็จภายใน 270 วัน โดยเสนอผลการไต่สวนและข้อเสนอแนะต่อประธานาธิบดีให้พิจารณาตัดสินใจภายใน 90 วัน หากเห็นด้วยกับผลการไต่สวนที่เสนอประธานาธิบดีสามารถขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศผู้ถูกไต่สวนทันที
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (DOC) เปิดรับความเห็น/ข้อมูล/ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณชนทั่วไปในระหว่างขั้นตอนการไต่สวน ทั้ง 3 ขั้นตอน 1. Written Submission, Requests to Appear at Public Hearing, Summary of Expected Testimony 2. Rebuttal Comments และ 3. Public Hearing ซึ่ง คต.เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวภายใต้หัวข้อเรื่อง “สหรัฐเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนกรณีกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ” ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 คต.ได้จัดประชุมหารือในประเด็นดังกล่าวร่วมกับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ข้อสรุปในการกำหนดแนวทางการจัดทำ Written Submission ดังนี้ ผู้แทนการยื่นฯ ของฝ่ายไทยควรดำเนินการในนามองค์กร/สมาคม โดยตรง เพื่อเป็นการแสดงท่าทีอย่างกระตือรือร้นของฝ่ายไทย โดยเลือกให้ข้อมูลพร้อมสถิติและการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือตามหัวข้อที่เป็นผลทางบวกแก่ไทย เช่น อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุผลทางด้านความมั่นคง ผลกระทบของการแข่งขันจากต่างประเทศต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอ่อนกำลังลง และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ ๆ ที่จำเป็น เพื่อการป้องกันประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Written Submission ควรเป็นผลสรุปการหารือภายในกลุ่มยานยนต์ฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากที่ปรึกษากฎหมายแล้ว และควรเร่งดำเนินการทางเว็บไซต์ www.regulations.gov หัวข้อ Docket No. DOC-2018-0002 ให้เสร็จก่อน 22 มิถุนายน 2561
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้าของสหรัฐร้อยละ 0.1 และ 2.0 ตามลำดับ แต่ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปเม็กซิโกและแคนาดาโดยใช้สิทธิทางภาษี NAFTA เพื่อส่งออกไปสหรัฐในที่สุด ดังนั้น หากเม็กซิโกรวมทั้งแคนาดาถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าฯ จากมาตรการดังกล่าว ก็จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะเร่งติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวและเผยแพร่ให้หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทันที ซึ่งรายละเอียดสาระสำคัญของข้อมูล สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.regulations.gov หัวข้อ Docket No. DOC-2018-0002 .-สำนักข่าวไทย