แจ้งวัฒนะ19 มิ.ย.-ตัวแทนแอมเนสตี้ประเทศไทย แต่งกายชุดสีดำ สวมหน้ากาก ถือป้ายข้อความแสดงเชิงสัญลักษณ์ วางดอกไม้และเทียน หน้าเรือนจำบางขวาง ไว้อาลัยกับบุคคลที่ถูกประหารชีวิต พร้อมยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม และเรื่องนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง ถ้าสังคมไม่ต้องการเห็นความรุนแรง หรือเห็นการเข่นฆ่า ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมล้วนมีการศึกษาว่าโทษประหารชีวิตไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้ เรื่องนี้ทำให้รู้สึกผิดหวัง และเสียใจกับการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ปล่อยให้มีการประหารเกิดขึ้น
นางปิยนุช กล่าวอีกว่า ผ่านมาไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารนับเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด อีกทั้งไม่ได้เป็น คำตอบสำเร็จรูป ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ทางแก้คือต้องย้อนถามกลับไปยังภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัย ที่มีหน้าที่คุ้มครองประชาชน ว่า ปัญหาความรุนแรง ปัญหาอาชญากรรมคืออะไร รัฐได้ใช้วิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ในการดูแล แก้ไขปัญหาเหล่านี้ แล้วสิ่งที่รัฐทำอยู่จะช่วยหยุดยั้งอาชญากรรมได้จริงหรือเปล่าและประชาชนคนไทยช่วยกันขนาดไหน
“การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ได้สนับสนุนผู้กระทำความผิดและสนับสนุนให้มีการลงโทษ แต่ต้องให้คนทำผิดได้รับโทษรับโทษตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การประหารชีวิต ที่ผ่านมานักโทษประหารชีวิตมักเป็นคนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงทนายต่อสู้คดี และบางคดีก็พบว่าไม่ได้กระทำผิดจริง “นางปิยนุช กล่าว
นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศเพราะมีผลต่อ ปฎิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลไทยเคยลงนามไว้เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552 ซึ่งหากไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตภายใน 10 ปี หรือภายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้ถือว่าไทยได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปโดยปริยาย แต่จากการลงโทษในครั้งนี้ทำให้ข้อตกลงในปฎิญญาสากลต้องตกไปโดยอัตโนมัติและเป็นเรื่องน่าตกใจที่กระทรวงยุติธรรมไทย ละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตรอด อีกทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหาร
ปัจจุบัน 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว ในอาเซียนมีฟิลิปปินส์และกัมพูชาที่ยกเลิกโทษประหารด้วย แสดงให้เห็นว่าทัศนคติและความเชื่อดั้งเดิมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากนี้แอมเนสตี้ก็จะเดินหน้าเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย