กาฬสินธุ์ 11 มิ.ย. – เกษตรสร้างชาติวันนี้ พาไปดู “ผำ” หรือ ไข่น้ำ พืชน้ำสีเขียว เป็นพืชตระกูลเดียวกับแหนเป็ด ผำมีโปรงตีนสูง ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ปกติผำจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกษตรกรท่านหนึ่งได้เพาะเลี้ยงผำขายเป็นอาชีพ
บ่อน้ำสีเขียว คือบ่อเพาะเลี้ยงผำ หรือไข่น้ำ ของพ่อบัวเรียน ภูบุญเติม เกษตรกรบ้านเชียงงาม ตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ผำเป็นพืชน้ำ ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ ลอยอยู่บนผิวน้ำเป็นแพ เกิดขึ้นตามธรรมชาติในแหล่งน้ำสะอาด พ่อบัวเรียนมองเห็นผำเป็นเม็ดเงิน เพาะเลี้ยงขายตั้งแต่ 20 ปีก่อน ปัจจุบันมี 8 บ่อ รวมพื้นที่ 10 ไร่
ปัจจัยสำคัญการเพาะเลี้ยงผำ คือ ดินต้องไม่เปรี้ยวหรือเค็ม มีแหล่งน้ำ น้ำในบ่อไหลเวียนตลอดเวลา ยกเว้นตอนใส่ปุ๋ย
เริ่มแรกการเพาะเลี้ยงผำ คือ สูบน้ำออกจากบ่อเพื่อกำจัดปลาและหอย ปรับพื้นบ่อให้เรียบ สูบน้ำเข้า ระดับน้ำสูง 40-50 เซนติเมตร นำผำใส่ลงบ่อ บ่อพื้นที่ 1 งาน ใช้ผำ 80 กิโลกรัม จากนั้น 5 วัน ให้สังเกตว่าผำเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มแสดงว่าบ่อนี้สามารถเพาะเลี้ยงผำได้ จากนั้นใส่ปุ๋ยทุกๆ 10-15 วัน ดูแลไม่ให้ผำไหลกองรวมกัน ด้วยการปลูกผักกระเฉด การเก็บผำขึ้นมาขายจะใช้สวิง ตาข่ายเล็กๆ เป็นตัวกรอง ผำจะหล่นลงในถุงที่ทำจากผ้าขาวม้า
เมื่อผำสะเด็ดน้ำก็นำไปขายกิโลกรัมละ 10 บาท เฉพาะบ่อนี้พื้นที่ 2 งาน เก็บผำได้วันละ 40 กิโลกรัม ผำนิยมนำไปประกอบอาการได้หลากหลาย เช่น ไข่เจียว แกง และประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ส่งเสริมให้นำผำไปเป็นอาหารปลา เพราะมีโปรตีนสูง
ในหมู่บ้านเชียงงาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ มีชาวบ้านเพาะเลี้ยงไข่ผำรวม 13 ราย ถือเป็นหมู่บ้านผลิตผำ แห่งเดียวของจังหวัดกาฬสินธุ์. – สำนักข่าวไทย