กทม. 5 มิ.ย.-หลายคนสงสัยทำไมอดีตพระพรหมเมธีบินลัดฟ้าหนีการไล่ล่าของตำรวจไปไกลถึงเยอรมนี และอดีตพระพรหมเมธีสามารถขอลี้ภัยได้หรือไม่ ขั้นตอนการดำเนินการจะต้องเป็นอย่างไร สำนักข่าวไทยพาไปตรวจสอบข้อมูล
ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตำรวจได้เบาะแสว่าอดีตพระพรหมเมธีนั่งรถตู้ออกจากกรุงเทพฯ ไปปฏิบัติศาสนกิจที่จังหวัดพิษณุโลก ก่อนค่อยๆ ลัดเลาะไปที่จังหวัดนครพนม เพื่อให้คนสนิทพาหนีไปยัง สปป.ลาว หลังจากรู้ว่าถูกตำรวจออกหมายจับ ฐานร่วมกันฟอกเงินในคดีทุจริตเงินทอนวัด ซึ่งช่วงนั้นตำรวจเร่งสืบสวนสอบสวนในทางลับ เพราะห่วงว่าอดีตพระพรหมเมธีจะหนีไปไกลกว่าพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงพยายามแกะรอยจากทุกเบาะแสที่มี สุดท้ายได้ข้อมูลว่าทางการเยอรมนีอายัดตัวพระพรหมเมธีไว้ที่สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ทำให้ ผบ.ตร. ต้องบินด่วนเพื่อประสานรับตัวกลับไทย
สำนักข่าวไทยตรวจสอบย้อนกลับไปว่าทำไมอดีตพระพรหมเมธีต้องบินไปไกลถึงเยอรมนี และไปเพื่อหวังหนีไปกบดานที่ไหนต่อ เบื้องต้นทราบว่าอดีตพระพรหมเมธีมีสัมพันธ์ที่ดีกับวัดพระธรรมกายแน่นแฟ้น และเคยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงเข้าร่วมประกอบพิธีต่างๆ ของวัดพระธรรมกายที่ยุโรป ซึ่งมีมากกว่า 20 สาขา โดยเฉพาะที่เยอรมนีมีสาขาวัดพระธรรมกายมากถึง 7 สาขา เช่น บาวาเรีย เบอร์ลิน ฮัมบูร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต
ส่วนที่เชื่อว่าอดีตพระพรหมเมธีอาจขอลี้ภัยในเยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีมีภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งผู้ลี้ภัยสามารถยื่นสถานะขอลี้ภัยได้ด้วยตนเองที่หน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนี และสามารถยื่นเรื่องได้ที่สนามบินได้ด้วย หากทางการเยอรมนีอนุญาต ผู้ลี้ภัยจะไม่ต้องถูกส่งตัวกลับมายังประเทศต้นทาง หรือหากไม่อนุญาต ผู้ลี้ภัยยังสามารถยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเวลาในการพิจารณาคำขอจะประมาณ 2 เดือน หรืออาจเร็วกว่านั้น
ส่วนประเภทในการขอลี้ภัยมีด้วยกัน 4 ข้อ ประกอบด้วย การขอลี้ภัยทางการเมือง ผู้ขอลี้ภัยต้องให้เหตุผลว่าถูกละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความร้ายแรง, การขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย คือ การถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ, การขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน และการขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งกรณีอดีตพระพรหมเมธี คาดว่าจะยื่นขอลี้ภัยตามข้อ 1 และข้อ 2 เนื่องจากหลบหนีคดีเงินทอนวัดและยังไม่นำตัวเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย