รัฐบาลเดินหน้าประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

กรุงเทพฯ  4 มิ.ย. – รัฐบาลประกาศประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เสร็จรัฐบาลนี้ ถือเป็นท่าเรือเมกะโปรเจ็กต์ใน EEC ดันเศรษฐกิจไทยโต  และก้าวสู่ท่าเรือศูนย์กลางในอินโดจีน


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับรายละเอียดการพัฒนาโครงการ ความเสี่ยงของโครงการ และรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน รวมทั้งการจัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบสิทธิประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมสัมมนา โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงานจำนวนมาก

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นหนึ่งในโครงการเสาหลักในพื้นที่ นอกจากเมกะโปรเจ็กต์ในพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลจะเดินหน้าตามรวม 8 โครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ประกาศ TOR ไปแล้ว โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานในภูมิภาค โครงการท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ (ครุยซ์) โครงการสมาร์ทซิตี้ โดยเฉพาะโครงการท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการที่กล่าวไปแล้วยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าให้การประมูลประกวดราคาเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ทุกโครงการเสร็จใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยในอนาคตมั่นใจว่าท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นกุญแจสำคัญ นอกจากจะเป็นประตูผ่านสินค้าเข้าออกไทยแล้วจะมีความสัมพันธ์กลายเป็นท่าเรือศูนย์กลางในภูมิภาคอินโดจีน เช่นเดียวกับท่าเรือรอดเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่กระจายสินค้าไปทั่วภูมิภาคยุโรป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็น 1 ในโครงการที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนให้สำเร็จเป็นรูปธรรมในรูปแบบ PPP เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำมีต้นทุนต่ำที่สุด รองลงมา คือ ระบบรางและถนน โดยการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนครั้งนี้จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการไปสู่ความสำเร็จและลุล่วงตามวัตถุประสงค์ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน  3 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ได้นำเสนอข้อมูล นโยบาย และแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งพบว่านักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชน ร้อยละ 95 เชื่อว่าท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 มีความต้องการใช้ระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติเข้ามาดำเนินการในช่วงแรก นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชนที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ร้อยละ 92 และเห็นด้วยกับแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ร้อยละ 93 ทั้งนี้ ร้อยละ 50 ของนักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในท่าเรือสินค้า รองลงมา คือ ท่าเรืออเนกประสงค์ ร้อยละ 38 และท่าเรือขนส่งสินค้ายานยนต์ ร้อยละ 12

ส่วนครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 2 มีเป้าหมายเกี่ยวกับรายละเอียดการพัฒนาโครงการ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณการระหว่าง 95,000 – 105,000 ล้านบาท (เป็นมูลค่าประมาณการเท่านั้น) และนำเสนอการจัดสรรหน้าที่และความรับผิดชอบสิทธิประโยชน์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น

สำหรับโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยโครงการมีความได้เปรียบทั้งทำเลที่ตั้ง และรูปแบบของการดำเนินงานที่เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้า ศูนย์แวะพักตู้สินค้า และภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างประเทศระดับอนุภูมิภาคที่สามารถเอื้ออำนวยให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งจีนตอนใต้ จีนตะวันตก ญี่ปุ่นและอินเดียด้วย นอกจากนี้ โครงการยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคมนาคมขนส่ง กระจายสินค้า ตลอดจนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเป็นการเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเมื่อก่อสร้างเสร็จจะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านค้นต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก ร้อยละ14 ของจีดีพี เหลือร้อยละ 12 ของจีดีพี ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ค่าฝุ่นกทม.

กทม. เช้านี้ ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน 54 พื้นที่

กรุงเทพฯ เช้านี้ พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 54 พื้นที่ แนะสวมกากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.