กรุงเทพฯ 30 พ.ค. – สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์เผยเกษตรกรไทยร้อยละ 40 ยังยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 32,000 บาทต่อปี ขณะที่ยังมีภาระหนี้ 60,000 บาท
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง “เจาะลึกโครงสร้างภาคเกษตรไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากอดีตถึงปัจจุบัน” ซึ่งเป็นการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและสำมะโนเกษตรไทย ปี 2560 ที่ครอบคลุมเกษตรกร 15.6 ล้านคนมาวิเคราะห์
นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศ่าสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เกษตรกรไทยยังมีฐานะยากจน โดยประมาณร้อยละ 40 ของครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้ไม่ถึง 32,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นระดับเส้นความยากจนของประเทศไทยในปี 2559 นอกจากนี้ร้อยละ 70 ของเกษตรกรมีรายได้ไม่ถึง 57,032 บาท ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรไทยในปี 2560 ขณะเดียวกันพบว่า เกษตรกรยังมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 60,000 บาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 130,000-140,000 ต่อครัวเรือนต่อปี และมีประมาณร้อยละ 10 ของครัวเรือนเกษตรที่มีหนี้สินเกิน 3 เท่าของรายได้ต่อหัวต่อปี จากอัตราเฉลี่ยหนี้สินส่วนใหญ่อยู่ที่ 1.3 เท่า
“รายได้ต่อหัวภาคการเกษตรในแต่ละปีเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2-3 แต่หากเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ รายได้เกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่า ขณะที่ปัญหาหนี้สิน เกษตรกรครึ่งหนึ่งมีหนี้สินต่อรายได้ไม่ถึง 0.6 เท่า ซึ่งภาพรวมของปัญหาหนี้สินถือว่ายังไม่น่ากังวล ยกเว้นกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สินเกิน 3 เท่า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 เท่านั้น โดยเห็นว่า หากจะแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน รัฐบาลควรแก้ปัญหาแบบเฉพาะเจาะจง โดยเริ่มจากกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ” นายวิษณุกล่าว
ด้านนางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ด้วยการเร่งเพิ่มรายได้ โดยการส่งเสริมการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง และให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็เร่งแก้ปัญหาการเข้าถึงระบบชลประทานและแหล่งน้ำ เพราะมีเกษตรกรเพียงร้อยละ 42 ที่เข้าถึงแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก นอกจากนี้ควรมีมาตรการจูงใจ เพื่อให้แรงงานหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรมากขึ้น เพราะเกษตรกรไทยกำลังเผชิญปัญหาแรงงานเกษตรสูงอายุ โดย 10 ปีที่ผ่านมา มีมีเกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 คือ จากร้อยละ 39 ในปี 2546 เป็น ร้อยละ 49 ในปี 2556 ซึ่งหากดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม จะสามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตได้ เพราะคนรุ่นใหม่มีการศึกษาที่สูงขึ้น – สำนักข่าวไทย