กรุงเทพฯ 14 พ.ค.-ประเด็นการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งและปมร้อนเกี่ยวกับนายกฯ คนนอก ซึ่งเซียนการเมืองจับตาการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีว่าอาจปูทางไปสู่ตำแหน่งดังกล่าว โดยท่าทีของพรรคการเมืองใหญ่ยืนยันว่า ไม่กังวล เพราะเชื่อว่าสถาบันพรรคสำคัญกว่าตัวบุคคล แต่นักวิชาการกลับมีความเห็นแตกต่างออกไป ติดตามจากรายงานของทีมข่าวการเมือง สำนักข่าวไทย
การประกาศผ่านโฆษกรัฐบาลว่า จะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงโค้งสุดท้าย ลงพื้นที่พบปะประชาชน และจัดประชุม ครม.สัญจรเดือนละ 1 ครั้ง ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายการเมืองจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการพบปะกับนักการเมืองในพื้นที่ คล้ายกับส่งสัญญาณหาพันธมิตรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางอนาคตหลังการเลือกตั้ง เมื่อผนวกกับผลโพลที่พบประชาชนส่วนใหญ่ยังหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่ต่อ ยิ่งช่วยการันตีความมั่นใจให้ พล.อ.ประยุทธ์
หากย้อนดูการเดินสายลงพื้นที่หลายจังหวัด จะพบมีหลายกลุ่มและหลายพรรคการเมืองประกาศพร้อมจับมือกับรัฐบาล ซาวเสียงน่าจะเป็นขุมกำลังที่ดี ทั้งกลุ่มพลังชล จ.ชลบุรี ของนายสนธยา คุณปลื้ม ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา จ.สุโขทัย นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทย จ.สุพรรณบุรี ล่าสุด นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ในระหว่างลงพื้นที่บุรีรัมย์ ไม่นับรวมกลุ่ม กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลุ่มบ้านริมน้ำของนายสุชาติ ตันเจริญ และดีลลับกับกลุ่มการเมืองที่ประกาศจัดตั้งพรรคหนุน ประเมินแล้วน่าจะมีมากกว่า 100 เสียง ที่พร้อมยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อดูความเป็นไปได้ในการนั่งนายกฯ คนนอก ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เปิดช่องไว้ จะพบว่ากฎหมายกำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน ตัวแปรสำคัญคือ ส.ว.ชุดแรก 250 คน มาจากการแต่งตั้งโดยตรงของ คสช. ที่จะมีโอกาสยกมือโหวตนายกฯ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีจาก 3 รายชื่อได้ สมาชิกของรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 376 คน จาก 750 คน เสนอเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่คนนอกได้ และหากรัฐสภาลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน บุคคลนั้นจะเป็นนายกรัฐมนตรีทันที เท่ากับว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จะต้องหาเสียงสนับสนุนให้ 250 เสียงจาก ส.ส. และมีความเป็นไปสูงที่จะทำได้
พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคอย่างประชาธิปัตย์และเพื่อไทย แม้จะรู้ช่องทางในการได้นายกฯ คนนอก ก็ไม่กังวล เพราะยังคงเชื่อมั่นในตัวสมาชิกและอุดมการณ์ของพรรคที่ยังเหนียวแน่น ที่สำคัญการเลือกตั้งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่สำคัญกว่าตัวบุคคล
แต่ในมุมของนักวิชาการกลับมองตรงกันข้าม แม้ 2 พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.มาก แต่ไม่เพียงพอตั้งรัฐบาลพรรคเดียว จึงเป็นโอกาสของนายกฯ คนนอก ที่จะรวมเสียงสู้ในสภาและยังมีแรงหนุนจากวุฒิสภาด้วย
ความเคลื่อนไหวการเมืองในขณะนี้ ยังถือเป็นเพียงการอุ่นเครื่อง ก่อนลงสนามจริงในช่วงที่ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ ทั้งการเปิดรับสมาชิกใหม่และการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในตัวบุคคลมากขึ้น และประเมินแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความเข้มข้นและมีตัวแปรสำคัญไม่แพ้ในอดีตอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย