กรุงเทพฯ 9 พ.ค. – ธปท. เผยสถาบันการเงินพร้อมใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS9 ด้านคลังหนุนตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ห่วงกระทบเอสเอ็มอีหนัก
จากกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี IFRS9 ในวันที่ 1 ก.ค.62 ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค.65 เนื่องจากต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาศึกษาข้อเสียที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ชัดเจนก่อน
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาวิชาชีพบัญชีมีแผนจะนำการบัญชีหรือมาตรฐานรายงานการเงิน IFRS9 มาใช้ในประเทศไทยในปี 2562 หลังจากวันบังคับใช้ของต่างประเทศ 1 ปี (ซึ่งบังคับใช้ในปี 2561) ธปท.ได้หารือ ร่วมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ระบบและเตรียมการตั้งสำรองอันเป็นผลสืบเนื่องจากมาตรฐานการบัญชีใหม่ ซึ่งโดยรวมแล้วสถาบันการเงินเองก็ดำเนินการเตรียมตัวและพร้อมแล้ว
อย่างไรก็ดี มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SME ด้วยเหตุนี้ ทราบมาว่า สภาวิชาชีพบัญชีโดยคณะกรรมการ กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) จะนำผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ในแง่ของต้นทุนการขอสินเชื่อที่อาจสูงขึ้น และการเข้าถึงสินเชื่อที่อาจยากขึ้นมาประกอบการพิจารณา เพื่อความรอบคอบ รวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางที่จะช่วยลดผลกระทบในการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กกบ. เป็นตัวหลักในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนเองเห็นด้วยที่จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาและรวบรวมข้อมูลความพร้อม รวมถึงผลกระทบในภาพรวมกับประเทศก่อน
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า IFRS9 เป็นเรื่องที่ใช้กันในระดับสากล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก ดังนั้น อาจจะมีการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม สิ่งที่อยากให้พิจารณาคือ ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค่อนข้างมากถึงร้อยละ 30 ขณะที่ต่างประเทศมีร้อยละ 10 ผลกระทบที่ตามมา คือ สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองเพิ่ม และเป็นไปได้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยกับเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น หรือบางแห่งอาจไม่ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลและอาจเกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องรอดูผลการศึกษาก่อน . – สำนักข่าวไทย