กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นมีผลขาดทุนจากสต็อกเล็กน้อย เมื่อเทียบกับงวดปีก่อนที่มีกำไรจากสต็อก
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า PTTGC เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1/61 ที่ระดับ 12,388 ล้านบาท ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 30% จากไตรมาส 4/60 โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 16,308 ล้านบาท ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2% จากไตรมาสก่อน โดยมีรายได้จากการขาย 120,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน
ในไตรมาส 1/61 ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมีผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากสถานการณ์ราคาผลิตภัณฑ์โพลีโอเลฟินส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก และในไตรมาสนี้บริษัทยังได้รับผลดีจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนจากการเข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนเฉพาะส่วนของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,024 ล้านบาท และผลประโยชน์จากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร (MAX) ที่รับรู้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสนับสนุนผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสนี้ แม้ว่าส่วนต่างของผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจอะโรเมติกส์จะมีการอ่อนตัวลง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/60 กำไรรวมสุทธิปรับตัวลดลง 6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสายธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ที่ได้รับผลดีจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน สามารถใช้กำลังการผลิตของหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) ที่อัตรา 102% อยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาส 1/60 และไตรมาส 4/60 แต่ค่าการกลั่น (GRM) ที่รวมผลกระทบจากสต็อกอยู่ที่ 6.04 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากระดับ 6.76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/60 และระดับ 7.30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 4/60 หลังมีผลขาดทุนสต็อกและขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงสุทธิ เมื่อเทียบกับงวดปีก่อนที่ไม่มีผลขาดทุนดังกล่าว
ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ มีกำไรขั้นต้นของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในไตรมาส 1/61 หรือ Market P2F ต่อตันผลิตภัณฑ์สารอะโรเมติกส์ (BTX) อยู่ที่ 166 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 48% จากงวดปีก่อน และลดลง 14% จากไตรมาสก่อน ซึ่งแม้ว่าส่วนต่างผลิตภัณฑ์หลักคือพาราไซลีนและเบนซีนยังคงอยู่ในระดับที่ดีแต่ส่วนต่างของผลิตภัณฑ์พลอยได้กับคอนเดนเสท โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์แนฟทาและก๊าซแอลพีจีมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ Market P2F ต่อตันผลิตภัณฑ์ BTX ปรับตัวลดลง และปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/60 เนื่องจากในไตรมาสดังกล่าวส่วนต่างของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์หลักปรับตัวเพิ่มขึ้นมากผิดปกติจากราคาผลิตภัณฑ์เบนซีนอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ราคาเม็ดพลาสติก HDPEเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มมาอยู่ที่ 1,379 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาส 1/60 และ 12% จากไตรมาส 4/60 โดยเป็นผลจากการเติบโตของอุปสงค์ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นประกอบกับประเทศจีนมีการดำเนินนโยบายควบคุมมลพิษทำให้ไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนจากกระบวนการผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิลได้ ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ ในขณะที่อุปทานใหม่จากโครงการในประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้มีเข้ามาใหม่ในไตรมาสนี้ โดยสเปรดผลิตภัณฑ์ HDPE กับแนฟทา ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 798 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสก่อน ด้านราคาผลิตภัณฑ์ MEG (ACP) นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,142 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยได้รับผลดีจากความต้องการผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์ในประเทศจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องและปริมาณสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องปรับตัวเพิ่มขึ้น
PTTGC ระบุด้วยว่า แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบค่าเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 65-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการควบคุมกำลังการผลิตร่วมกันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกกลุ่มโอเปกที่ตกลงกันจนถึงสิ้นปี 61 และตลาดคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการต่ออายุมาตรการดังกล่าวในปี 62 การคาดการณ์ถึงการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรของประเทศสหรัฐอเมริกาต่อประเทศอิหร่าน และปัญหาการผลิตน้ำมันดิบที่ส่งผลทำให้การผลิตที่ลดของประเทศเวเนซุเอล่า ประเทศลิเบียและประเทศไนจีเรีย จึงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะสามารถเคลื่อนไหวในช่วงราคาดังกล่าว อย่างไรก็ดีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกาอาจเป็นปัจจัยลบที่จะมากระทบต่อระดับราคาน้ำมันดังกล่าว โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถเดินเครื่องโรงกลั่นได้เต็มที่ในปีนี้ที่อัตรา 101%
ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ บริษัทคาดว่าส่วนต่างผลิตภัณฑ์พาราไซลีนกับแนฟทา เฉลี่ยจะอยู่ระดับประมาณ 361 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ส่วนต่างราคาเบนซีนกับแนฟทาคาดว่าจะอยู่ในระดับ 281 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยผลิตภัณฑ์พาราไซลีนคาดว่าจะยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลายทาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวผลิตภัณฑ์เบนซีนที่ยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ปลายทางในส่วนของผลิตภัณฑ์สไตรีนโมโนเมอร์และผลิตภัณฑ์ฟีนอล อย่างไรก็ดีจากระดับราคาวัตถุดิบคอนเดนเสทที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามระดับราคาน้ำมันและกำลังการผลิตใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังจะทำให้ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ต่อวัตถุดิบคอนเดนเสท เป็นปัจจัยที่กดดันส่วนต่างของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของปริมาณการผลิตและการขาย บริษัทคาดว่าจะสามารถใช้กำลังการผลิตได้ดีขึ้นอยู่ที่อัตรา 91% ในปี 61 เพิ่มขึ้นจาก 80% ในปี 60 เนื่องจากในปี 60 มีการปิดซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2
ด้านแนวโน้มสถานการณ์ธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง บริษัทคาดว่าราคาเฉลี่ยเม็ดพลาสติก HDPE จะอยู่ที่ประมาณ 1,303 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น การดำเนินมาตรการลดมลพิษและยกเลิกการใช้เม็ดพลาสติกจากกระบวนการรีไซเคิลของประเทศจีน และกำลังการผลิตใหม่จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ MEG ที่คาดว่าราคาเฉลี่ย MEG ACP อยู่ที่ 991 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการจากผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์และพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) โดยในส่วนของการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าการใช้กำลังการผลิตโดยรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่ 96% เป็น 99% ในปีนี้ แม้ว่าบริษัทมีแผนที่จะทำการหยุดซ่อมแซมโรงโอเลฟินส์ 1 ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็ตาม และผลิตภัณฑ์ MEG คาดว่าจะมีการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีที่ 107% . – สำนักข่าวไทย