กทม.3 พ.ค.-สมาคมนักข่าวฯร่วมสื่อมวลชน จัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ ให้ คสช.”โละ เลิก ล้าง”คำสั่งที่ลิดรอนสื่อ พร้อมเรียกร้องสื่อทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ
นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย เป็นประธานการจัดกิจกรรมวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยจัดขึ้น เนื่องในวันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเพื่อตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของ”เสรีภาพสื่อมวลชน”ซึ่งเป็น”เสรีภาพของประชาชน”ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนมืออาชีพที่ต้องมีเสรีภาพ
ภายในงานมีการกล่าวไว้อาลัยเเก่สื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บเเละเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่โดยในปี2560มีสื่อมวลชนทั่วโลกเสียชีวิตกว่า46 ราย มากที่สุดในประเทศอิรักเเละซีเรีย พร้อมยืนไว้อาลัยให้กับการสูญเสียที่เกิดขึ้น
อีกทั้งมีการกล่าวเเถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทั้งยังอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)หลายฉบับ เปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อ ลิดรอนสิทธิการรับรู้ข่าวสารและเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นของประชาชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงขอเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.ให้รัฐบาลโดยคสช.ต้องระมัดระวังการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนเเละสื่อมวลชน พร้อมกับ“โละ เลิก ล้าง”ประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชน
2.ให้ คสช.เเละคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์เเละกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ต้องปฏิรูปสื่อวิทยุเเละโทรทัศน์โดยปราศจากการครอบงำ เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเเละกำลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งตามโรดเเมป
3.เรียกร้องให้ประชาชนเเละผู้ใช้สื่อในทุกแพลตฟอร์มระมัดระวังการเผยเเพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ข่าวปลอมที่ไหลทะลักบนสื่อออนไลน์และขอให้ประชาชนช่วยตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมเเห่งวิชาชีพ
และ4.เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกเเขนงพึงตระหนักการทำงานภายใต้กรอบจริยธรรมเเห่งวิชาชีพท่ามกลางการเปลี่ยนเเปลงทางการเมืองเเละปฏิรูปประเทศด้านต่างๆโดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อมวลชน เเละขอยืนหยัดพร้อมที่จะรับการถูกตรวจสอบจากสังคมด้วยวิถีทางอันถูกต้อง ชอบธรรมด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย
ภายหลังการกล่าวเเถลงการณ์มีการเสวนา “ปลดล็อคคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน” โดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความเเละหัวหน้าฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งเเต่มีการรัฐประหารในปี 2557สถานการณ์การเมืองทำให้สื่อไม่สามารถออกมา แสดงข้อเท็จจริงเเละความเห็นได้อย่างเต็มที่ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กสทช.ลงโทษสื่อเกี่ยวกับประกาศคำสั่ง คสช.อาทิ ประกาศที่97/57 เเละ103/57 ถึง 52 ครั้งมากที่สุดคือวอยซ์ทีวี19 ครั้ง ทั้งยังมีคำสั่งระงับการออกอากาศชั่วคราวเป็นระยะ ขณะเดียวกันมีประชาชนอย่างน้อย 1,340 รายถูกเรียกรายงานตัวเเละปรับทัศนคติ,ประชาชน2,177คนถูกดำเนินคดีในศาลทหารที่มีการพิจารณาคดีเพียงชั้นเดียวอีกทั้งกิจกรรมการเสวนาชุนนุมถูกปิดกั้นโดยคำสั่ง คสช.ที่ 3/58 จึงอยากเสนอว่าสิ่งที่สื่อจะทำได้คือช่วยปลดล็อคเสรีภาพของเเสดงความเห็นของประชาชนเพื่อการทำงานหรือช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันได้ในอนาคต
ด้านนายก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ในมุมของสื่ออนไลน์สิ่งที่น่ากลัว คือข่าวปลอมที่มีการส่งต่ออย่างเเพร่หลายโดยไม่มีการไตร่ตรอง ยิ่งตั้งเเต่มีการรัฐประหารก็มีข่าวลือต่างๆเกิดขึ้นในสื่อโซเซียลจำนวนมาก สิ่งที่สื่อมวลชนต้องมีเเละตระหนักไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหนต้องรับผิดชอบเเละสำนึกต่อการทำหน้าที่เพื่อรายงานความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ย้ำว่าคุณภาพของข่าวเป็นสิ่งที่สำคัญเเละมีประโยชน์ต่อประชาชน
ขณะที่น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การควบคุมสื่อไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบกฎหมายเท่านั้น ภาคสังคมก็มีส่วนสำคัญมากเ เต่เมื่อพูดถึงกฎหมายกฎหมายดิจิทัล หรือร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…. สิ่งที่กฎหมายควรจะเป็นคือควรมีความมั่นคงของระบบในตัวของโครงสร้างไม่ใช่เนื้อหาเพราะในประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงช่วยให้เสรีภาพมันเติบโตไม่ใช่ไปควบคุมสิทธิของประชาชน จึงควรระมัดระวังกฎหมายที่กำลังจะออกมา มิเช่นนั้นจะมีการนำไปใช้กฎหมายในเชิงที่ผิดเจตนารมณ์เเละลิดรอนสิทธิของประชาชน .-สำนักข่าวไทย