สมาคมนักข่าวฯ 3 พ.ค.- องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรออกเเถลงการณ์ 5 ข้อในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ให้รัฐยับยั้งพ.ร.บ.คุมสื่อ ด้านนักวิชาการมองกฎหมายเเก้ปัญหาไม่ตรงจุด จัดเสรีภาพ ไม่เเก้ปัญหาจริยธรรม
นายเทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย เป็นประธานจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก”รวมพลังคนข่าวคัดค้านกม.สื่อ” ที่คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปจัดขึ้นเพื่อย้ำถึงหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งคือเสรีภาพของประชาชน เเละให้ประชาชนชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อที่จะต้องมีเสรีภาพ
ภายในงาน มีการกล่าวไว้อาลัยแก่สื่อมวลชนที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ,การเสวนาเรื่อง”เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย” , เผยเเพร่คลิปวิดีโอคัดค้านร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมเเละมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนจากเครือข่ายบรรณาธิการ 4 ภาค เเละการกล่าวเเถลงการณ์ เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกโดยนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย
นายปราเมศ กล่าวว่า วันที่ 3 พ.ค.ของทุกปี องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์กับการทำงานอย่างมีเสรีภาพของสื่อมวลชน เเต่สถานการณ์สื่อในปัจจุบันของไทยกำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ ภายใต้การกำกับดูเเลของคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ ล่าสุด คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีตัวแทนของรัฐเข้ามาเป็นกรรมการ มีอำนาจออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุก
ขณะที่องค์กรสื่อเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเปิดช่องทางให้รัฐยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นการออกใบ อนุญาตถูกมองว่าเป็นการตีทะเบียนสื่อ ลิดรอนการเเสดงความคิดเห็นของทั้งสื่อมวลชนเเละประชาชน วันนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรสื่อ จึงเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน 5 ประเด็น คือ
1.ให้รัฐบาลยับยั้งพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนเเละประชาชน เเละสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าวคัดกับรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 ที่รองรับเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน
2.ให้ยกเลิกประกาศเเละคำสั่งคสช.ที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพสื่อ
3.สื่อมวลชนต้องทำงานภายใต้กรอบเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมเเห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด เเละพร้อมรับการตรวจสอบจากสังคม
4.ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบสื่อมวลชนให้ทำงานภายใต้กรอบจริยธรรมเเห่งวิชาชีพ
เเละ 5.การมีเสรีภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ตระหนักในประเทศที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การจำกัดเสรีภาพเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เเละย้ำว่าจากนี้สื่อมวลชนเองก็จะมีกลไกในการดูเเลเเละตรวจสอบสื่อด้วยกันเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ในเวทีเสวนา”เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย”ได้เเลกเปลี่ยนถึงประเด็นกฎหมายคุมสื่อ โดยนายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า มองว่า กฎหมายดังกล่าวเเก้ไม่ตรงจุด จำกัดเสรีภาพเเต่ไม่ได้เเก้จริยธรรมสื่อ ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เน้นควบคุมการนำเสนอของสื่ออย่างเดียว ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเมื่อประชาชนเรียกร้องว่าถูกสื่อละเมิดสิทธิ รัฐนิ่งเฉย แเต่กลับมาเคลื่อนไหวตอนที่สื่อนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐ
เช่นเดียวกับนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ การจะเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ต้องมีการนำเสนอผ่านข่าวสาร ที่ผ่านมามีผลสำรวจชัดว่าประชาชนตื่นตัวที่จะร่วมกันเเก้ปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้นเพราะได้รับชมข่าวสารที่สื่อนำเสนอ จึงอยากให้สื่อเป็นอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ภายในงาน ได้มีการมอบรางวัลประกวดสโลแกนวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก โดยสโลแกนที่ชนะเลิศคือ หยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน ผลงานของนางสาวสุธิดา ปล้องพุดซา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย อสมท โดยเปิดเผยว่า แรงบันดาลใจในการเขียนเกิดจากที่ได้อ่านสาระคัญของพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ จึงอยากให้หยุดแนวคิดการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ หากไม่หยุดสื่ออาจกังวลต่อการทำหน้าที่ ไม่กล้านำเสนอข้อเท็จจริง คล้ายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย .-สำนักข่าวไทย