ทำเนียบ 20 เม.ย.-ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบกรอบเวลาการจัดทำแผนแม่บทในระยะ 20 ปี แบ่งช่วงพัฒนาช่วงละ 10 ปี พร้อมติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2561 โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการการจัดทำรูปแบบ และเค้าโครงของแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้แผนแม่บทมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี สามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วงๆ ละ 10 ปี และควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้ระบุแผนงานโครงการ และการดำเนินการที่เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ทั้งนี้ ไม่ต้องระบุงบประมาณของแผนงาน โครงการการดำเนินการต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนแม่บท ยกเว้นในเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ ให้มีการระบุกรอบงบประมาณเบื้องต้นไว้
ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้มีกลไกและวิธีการประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่เป็นภาระของหน่วยงานมากจนเกินไป และมอบหมายให้ สศช. หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนการนำเสนอ ครม. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศและแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ โดยจะเร่งดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสามารถทำได้ทันที (Quick Win) ประมาณ 30 เรื่อง และดำเนินการปรับแก้ หรือตรากฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประมาณ 80 ฉบับ และโครงการสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศ (Flagship) ประมาณ 110 เรื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาจัดทำประเด็นการปฏิรูป ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเรื่องการพัฒนาทักษะการสอนของครู และการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ คุณธรรม จริยธรรม และการค้นหาศักยภาพเฉพาะของผู้เรียน เป็นต้น โดยคาดว่าจะเสนอแผนฯ ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 นี้
ที่ประชุมให้ข้อคิดเห็นต่อผลการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ควรให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนและประเทศ ใน 6 เรื่องสำคัญได้แก่ โครงสร้างองค์กรและการถ่ายโอนภารกิจบางส่วน ,การปรับปรุงด้านการสอบสวนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ,ระบบแต่งตั้งโยกย้าย และการร้องเรียนที่เป็นธรรม ,ความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน ,มาตรฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และ ระบบสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายคณะกรรมการพิเศษพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการดำเนินการต่อไป
.- สำนักข่าวไทย
ดูข่าวเพิ่มเติม