จุฬาฯ 5 เม.ย. – “ประสาร” ชี้เศรษฐกิจไทยสดใสตามทิศทางเศรษฐกิจโลก เร่งปฏิรูปการศึกษา ลดเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภายใต้หัวข้อ “ปฏิวัติธุรกิจ ปฏิรูปการศึกษา” ว่า ปี 2560 เป็นปีแรกที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวพร้อมกันหลายภูมิภาค โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ขณะที่ปี 2561 และ 2562 มีทิศทางโตต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ยังมีค่อนข้างมากโดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และแม้ว่าคาบสมุทรเกาหลีจะดูสงบ แต่ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิประเทศทั่วโลกยังมีให้เห็น ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน
ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลายสำนักคาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโตได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป การใช้จ่ายภาครัฐถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะถือเป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยปีนี้ และการส่งออกยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของทั้งบุคคลและการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ( AI) แทนพนักงาน รวมถึงธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปิดสาขาและแข่งขันกันฟรีค่าธรรมเนียม ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีจากค่าธรรมเนียม แต่จำเป็นต้องลดค่าธรรมเนียม เพื่อรักษาฐานลูกค้า 2 – 3 ล้านคนของแต่ละธนาคารไว้
นายประสาร กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสิ่งที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ประกอบด้วย ศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลงมาก ในช่วงปี 2543- 2556 จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.0 ขณะที่ช่วงปี 2530 – 2539 ขยายตัวร้อยละ 8-9 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมติดอันดับต้น ๆ ของโลก และสถาบันทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะสถาบันภาครัฐไม่ตอบโจทย์ประเทศและเท่าทันการเติบโตของโลก
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้ประเทศเดินหน้า นั่นคือ การปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าระบบคุณภาพการศึกษาไทยต่ำอยู่ในอันดับที่ 8 ของอาเซียน ต่อจากเวียดนามและกัมพูชา การปฏิรูปการศึกษาเป็นช่องทางในการปลดล็อคประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตช่วยลดช่องว่างการเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขและวาระของคนไทยทั้งชาติ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้งบประมาณด้านการศึกษาถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดถือว่าสูงระดับต้น ๆ ของเอเชีย แต่มีเด็กถึง 670,000 คนอยู่นอกระบบการศึกษาและมีเด็กในครอบครัวที่รายได้ต่อเดือนไม่ถึง 3,000 บาท จำนวน 2.5 ล้านคน โดยงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ถึงเด็กเพียงประมาณ 50 สตางค์ต่อคนต่อวันเท่านั้น ขณะที่โรงเรียนในปัจจุบัน 30,000 แห่งมากกว่าครึ่งมีนักเรียนไม่ถึง 150 คน และมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมากกว่า 100 แห่ง คาดว่าเกินความต้องการของประเทศ อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณและเท่าทันความต้องการของโลกสร้างองค์ความรู้พัฒนาสังคมและเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ .- สำนักข่าวไทย