อสมท 31 มี.ค.-นักประวัติศาสตร์ชี้ปรากฏการณ์ละครดังส่งผลคนไทยตื่นตัวสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ และเกิดการขวนขวายหาความรู้เพิ่ม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ-นักวิชาการ ต้องร่วมใช้กระแสช่วงนี้ร่วมต่อยอดสังคมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย
ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิเคราะห์ปรากฏการณ์กระแสละครดังเรื่องนี้ ว่าทุกครั้งที่ละครประวัติศาสตร์ที่เด่น หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่ออกมาก็จะเกิดกระแสในลักษณะคล้ายๆเช่นนี้ เช่นภาพยนตร์สุริโยทัย ตำนานสมเด็จพระนเรศวร แต่ในกรณีของละครแล้วต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กระแสแรงกว่าทุกครั้งที่เคยมีมา เพราะกระแสที่เกิด ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเท่านั้น ขยายออกไปสู่กลุ่มผู้บริโภคในระดับนานาชาติด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชีย ครั้งนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้นในภาคส่วนที่ว่าด้วยการผลิตละครของไทย
เกิดการเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์จากละคร?
ต้องพิจารณา 2 ส่วน แรกสุดละครอิงประวัติศาสตร์ที่เคยผ่านมาตลอด มักจะจำกัดอยู่กับเรื่องวีรบุรุษบางพระองค์ หรือบางยุคบางสมัย เช่น เรื่องราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก เรื่องราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง หรืออย่างสงครามเก้าทัพ เป็นต้น แต่เรื่องครั้งนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีข้อมูลรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย เรื่องของสงครามไม่ใช่จะมี แต่ว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางปีบางสมัยแต่ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่โดดเด่นและสำคัญเลยทีเดียวในช่วงรัชกาลนี้ เพราะฉะนั้นในรัชกาลนี้ มีเหตุการณ์อื่นๆ ที่แทรกเข้ามาหลายอย่าง เช่น มีทูตฝรั่งเศสเข้ามา มีเรื่องของการค้าขายกับนานาชาติ มีการรับเทคโนโลยีตะวันตกเข้ามา มีอะไรต่ออะไรที่เป็นสีสันแตกต่างจากยุคสมัยอื่นๆ ที่เรามักจะคุ้นชิน เพราะฉะนั้นพอละครเรื่องนี้นำเสนอ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นการใช้ชีวิตโดยปกติของคนในสมัยก่อนออกมา ก็เป็นของที่แปลกใหม่ มีสีสัน จูงใจให้เกิดความสนใจได้ ในส่วนนี้จะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอันดับแรกคือกระตุ้นความสนใจให้คนมีกับประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน คือมีแรงสนใจถึงขนาดที่แต่งตัว คล้ายตามตัวละครและไปชมสาธารณะ สถานต่างๆ ปรากฏการณ์อย่างนี้ต้องบอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น
ในส่วนนี้ผมบอกว่า ขั้นต้นกระตุ้นความสนใจทางประวัติศาสตร์ พอละครกระตุ้นความสนใจทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่ตามมาอีกอันก็คือว่า เกิดความสนใจในการขวนขวายหาความรู้ ว่าสิ่งที่ละครนำเสนอจริงเท็จแค่ไหน หรือครบถ้วนกระบวนความแล้วหรือยัง ในขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน ตอบสนองต่อกระแสความตื่นตัวนี้ ด้วยการจัดเสวนาทางวิชาการ จัดกิจกรรมนำชมศาสนสถานอะไรอื่นๆขึ้นมา อันนี้เป็นดอกผลอันเกิดจากละคร
มองกระแสคนไทยครั้งนี้ จะยาวหรือไม่?
ผมคิดว่าไม่น่าจะยาวมากเพราะที่เราเห็นโดยผ่านมาทุกครั้งจะไม่ค่อยยาวเท่าไหร่ ก็เป็นในช่วงที่ละครออนแอร์หรือหลังจากนั้นนิดหน่อย แน่นอนที่สุดหลังจากนี้ก็อาจมีละครในแนวนี้ออกมาอีก แต่ก็บอกไม่ได้ว่าจะดึงดูดความสนใจได้เท่ากับละครเรื่องนี้ไหมความสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันคือ ปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาสครั้งนี้ มันเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้เป็นสิ่งที่แม้แต่กระทั่งผู้ทำละคร ผู้เขียนนวนิยาย ผู้เขียนบน จะคาดหวังว่าจะเกิดกระแสแรงขนาดนี้เพราะฉะนั้น จึงเป็นการเกิดเหมือน เวลาเรายิงพลุ ก็แวบขึ้นไป เสร็จแล้วพอหมดกำลังก็จะสูญหายไป เราไม่มีการวางรากฐาน ที่มั่นคงต่อการผลิตสื่อบันเทิงที่สร้างสรรค์ ตรงนี้ ผมคิดว่ายังขาดอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะกลับไปพิจารณาคือควรดูตัวอย่างของละครนี้และกลับมาพิจารณาดูว่าทำอย่างไร ที่จะทำให้เกิดการผลิตละครที่มีคุณภาพเหล่านี้ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะออกมาต่อเนื่องได้ก็ต้องมีรากฐานที่เข้มแข็ง มีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะผลิต มีทุนสนับสนุน มีอะไรหลายอย่างที่จะสร้างฐานที่มั่นคงเหมือนกับประเทศหลายๆประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกวัฒนธรรม
คนรุ่นใหม่ ดูละครและเชื่อเรื่องราวประวัติศาสตร์ในละคร?
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติ โดยสม่ำเสมอ คือไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่ รุ่นไหนๆก็ไปแต่งเรื่องแต่งราวขยับขยายกลายเป็นเรื่องที่คล้ายความเชื่อถือไป เช่น พันท้ายนรสิงห์ เราก็ทราบกันว่า มีเค้าเงื่อนทางประวัติศาสตร์ไม่มากเท่าไหร่ แต่พอขยายไปแล้ว อย่างนางนวลที่เป็นภรรยาพันท้ายนรสิงห์ก็เป็นคนที่ผู้เขียนแต่งขึ้นมาไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่เดี๋ยวนี้พอเราไปดูตามสถานที่ต่างๆที่คนเชื่อว่าสัมพันธ์กับพันท้ายนรสิงห์ก็จะเห็นศาลของนางนวลด้วย กลายเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงไปในประวัติศาสตร์ไป สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ซึ่งเราคงจะห้ามไม่ได้
ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นผมในฐานะนักประวัติศาสตร์เอง ก็ควรที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ให้กับสังคมได้รับรู้ด้วยแต่ละคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเอง คนทำละครก็ทำหน้าที่เขา ก็มีข้อจำกัดของเขา มีเงื่อนไขของเขา คนที่อยู่ในภาคส่วนอื่นๆ ที่พร้อมให้ความรู้กับสังคมได้ก็ต้องลุกขึ้นมาให้ความรู้กับสังคม
ผมคิดว่าพอนานไป เราจะคุ้นชินขึ้นและต่อไปเราก็จะค่อนข้างแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยจินตนาการ ขึ้นมา อะไรล่ะ เป็นสิ่งที่เราเชื่อถือได้ เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยัน .-สำนักข่าวไทย