กรุงเทพฯ 26 มี.ค. – อุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในยุค 2.0 สถาบันไทยเยอรมันแนะเสริมเทคโนโลยีสู่ปรับสู่ยุค 3.0 ระบบออโตเมชั่นก่อนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ต่อไปในอนาคต
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า จากการที่ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันเข้ามาช่วยประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมไทยพบว่า โดยรวมแล้วผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย โดยเฉลี่ยแล้ว ยังคงอยู่ในช่วงของการเป็นอุตสาหกรรมยุค 2.0 กว่าเท่านั้น มีบ้างที่เป็นอุตสาหกรรมยุค 3.0 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ยังคงอยู่ในช่วงของอุตสาหกรรมยุค 2.0 ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 และกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สามารถทยอยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ โดยเริ่มจากการให้ที่ปรึกษาหรือ SI จากสถาบันไทย-เยอรมัน ช่วยวิเคราะห์ได้ เมื่อได้รับคำแนะนำก็สามารถทยอยปรับระบบการผลิตต่อไปตามลำดับ จากอุตสาหกรรมยุค 2.0 สู่อุตสาหกรรมยุค 3.0 โดยมีการเติม Internet of Thing :IoT เรื่องของการใช้ Big Data เสริมเข้าไปในระบบการผลิต เป็น Smart Factory ที่เป็นระบบออโตเมชั่น จากนั้นต่อยอดระดับเทคโนโลยีจนสามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่จะเห็นก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม4.0 ได้ก่อนได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการ ซึ่งสอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
การปรับปรุงยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคอุตสาหกรรม4.0 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) มีงบช่วยเหลือค่าจ้างที่ปรึกษา 300 รายภายในปีนี้ รายละ 100,000 บาท มีวงเงินงบประมาณช่วยเหลือของ กสอ.รวม 50 ล้านบาท โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)คัดเลือกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 100 ราย ผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)จำนวน 40 ราย และกสอ.คัดเลือกจากผู้ประกอบการทั่วประเทศอีก 70 ราย ส่วนปีหน้า 2562 จะเพิ่มการช่วยเหลือเอสเอ็มอี อีก 1,000 ราย โดย ได้รับงบประมาณจาก กสอ.ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
ส่วนวงเงินสำหรับใช้ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค 3.0 สามารถกู้ได้จาก สินเชื่อทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งได้กันงบประมาณเอาไว้สำหรับโครงการ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี โรโบติกส์หรือหุ่นยนต์ 2, 000 ล้านบาทจากวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 20, 000 ล้านบาท
นายอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าว โครงการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs ในงานอินเตอร์แมค 2018 งานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต ว่า กสอ. มีนโยบายส่งเสริม smes ไทยก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือ DIP: Transform For SMEs โดยมีมาตรการช่วยเหลือทั้งมาตรการด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ปัจจุบันการลงทุนปรับเปลี่ยนการผลิตให้ก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 3.0 ไปยังอุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้ตามลำดับ การลงทุนไม่ได้แพงมากจนเกินไป
นายสรรชาย นุ่มนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวถึงงานอินเตอร์แมค 2018 ว่า งานอินเตอร์แมค 2018 จะ จัดขึ้น 16-19 พ.ค.นี้ ภายใต้แนวคิด พลิกโฉมสายการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ 45 ประเทศ มีเทคโนโลยี 1, 200 แบรนด์ จัดแสดงเทคโนโลยีการผลิต-สำนักข่าวไทย