กรุงเทพฯ 22 มี.ค.- คณะกรรมการ SEA ยังไม่เริ่มประชุม ยืนยันไม่ฟันธงว่าไม่ก่อสร้าง ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมเปิดเวที Thailand Coal Awards 2018 แสดงศักยภาพพลังงานจากถ่านหิน แสดงความเชื่อมั่นและยืนยันว่าเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ หรือ SEA ซึ่งแต่งตั้งโดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่าในขณะนี้ คณะกรรมการฯยังไม่ได้ประชุมแต่อย่างใด โดยรายชื่อกรรมการบางท่านยังไม่ได้รับการยอมรับจากทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่านสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการก่อสร้างโรงฟ้ากระบี่และเทพา โดยการทำงาน SEA เป็นครั้งแรกของด้านพลังงาน จึงต้องหาข้อมูลให้รอบด้าน ฟังทุกฝ่าย และพิจารณาด้านวิชาการ ซึ่งจะต้องดูหลายสมมติฐาน เช่น เรื่องไม่ก่อสร้าง ,การก่อสร้าง, การมีพลังงานประเภทอื่นมาทดแทน ,การสร้างส่งไฟฟ้าจากที่อื่นเข้ามาใช้ในภาคใต้ แล้วไฟฟ้าจะเพียงพอหรือไม่ โดยยืนยันในขณะนี้ คณะกรรมการไม่มีธงว่าจะไม่ก่อสร้างแต่อย่างใด และหากดูข้อมูลโดยรวมแล้ว ในขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าจะสามารถสรุปได้ภายใน 9 เดือนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนดหรือไม่
ทั้งนี้ นางสาวนันธิกา กล่าวภายหลัง เป็นประธานแถลงข่าวการประกวด Thailand Coal Awards 2018 ที่จัดโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการใช้ถ่านหิน ทั้งยัง เป็นการส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดภายในประเทศไทย โดยผู้ที่ชนะจากการประกวดในครั้งนี้ จะได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนไปประกวด ASEAN Coal Awards 2019 ต่อไป โดยเชิญชวนหน่วยงาน องค์กร บริษัทผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการด้านถ่านหิน อาทิ การทำเหมือง การขนส่ง การจัดเก็บ และการนำถ่านหินมาใช้ประโยชน์ในกิจการ หัวข้อประกวดได้แก่ ประเภทการดำเนินการด้านถ่านหินที่เป็นเลิศ (Best Practices Category) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility Category) และประเภทนวัตกรรมด้านถ่านหิน (Special Submission Category) ติดตามข้อมูลที่ www.thailandcoalawards.com หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2184-2728-32
สำหรับปริมาณการใช้ลิกไนต์และถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรม ปี 2560 รวม 39.07 ล้านตัน โดยในประเทศผลิตมากที่สุดที่เหมืองแม่เมาะ เพื่อการผลิตไฟฟ้า ส่วนการนำเข้ามีปริมาณ 22.19 ล้านตัน มูลค่านำเข้า 49,929.47 ล้านบาท นำมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ-สำนักข่าวไทย