อุตรดิตถ์ 21 มี.ค. – เกษตรกรทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ หนีแล้งซ้ำซาก ปรับตัวปลูกแคนตาลูปคลุมพลาสติกด้วยระบบน้ำหยด แทนทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รายได้ดีตลอดปี เฉลี่ย 1 ไร่ ลงทุน 15,000 เก็บขายได้ 60,000
นายพงษ์พัฒน์ เทียนสว่าง เกษตรกรหมู่ 4 ต.ป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ เร่งเก็บผลผลิตแคนตาลูปที่ปลูกไว้ 5 ไร่ หลังตัดสินใจปรับที่ดินจากที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกแคนตาลูป พืชทนแล้งและสภาพอากาศร้อน เนื่องจาก ต.ป่าคาย เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่าน นอกจากขุดสระเพื่อเก็บกักในช่วงฝนตกหนัก ประกอบกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาตกต่ำ ชาวบ้านส่วนใหญ่เน้นขายแรงงาน ตลอดเวลาที่ผ่านมาพยายามหาพืชมาปลูกทดแทน เพื่อต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ยอมรับว่าล้มลุกคุกคลาน จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ศึกษาและเริ่มลงมือปลูก แคนตาลูปในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ ประมาณ 60-70 วัน ก็เก็บผลผลิตขายได้
ปีนี้ขยายเป็น 5 ไร่ และบอกต่อเพื่อนบ้านเพื่อรวมกลุ่มกันทำจะได้เป็นแหล่งปลูกแคนตาลูปของ จ.อุตรดิตถ์ เพราะแคนตาลูปสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี นอกจากเป็นพืชอายุสั้นแล้ว ยังทนแล้ง ใช้น้ำน้อย เพราะหากชุ่มน้ำเกินไปจะทำให้เป็นโรคโคนเน่าได้ง่าย สำหรับที่แล้งซ้ำซาก ก่อนลงปลูกต้องบำรุงดินด้วยปุ๋ยมูลสัตว์ ขึ้นแปลงและใช้พลาสติกคลุมดิน ใช้ระบบน้ำหยดเพื่อประหยัดน้ำ ที่สำคัญต้องขยันตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ กำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้แย่งอาหารของแคนตาลูป
นอกจากนี้ยังสร้างเพิงขายริมถนนติดกับแปลงปลูก คัดตามขนาดของลูก ขายราคาเริ่มต้นกิโลกรัมละ 25-35 บาท ชาวบ้านและผู้สัญจรผ่านไปมาต่างแวะซื้อ สำหรับแคนตาลูป 1 ไร่ เก็บขายมีรายได้ถึงไร่ละ 60,000 บาท จากต้นทุนประมาณ 15,000 บาท ดีกว่าปลูกข้าวโพดและทำนา . – สำนักข่าวไทย