กรุงเทพฯ 20 มี.ค.- ประธาน ป.ป.ช. ย้ำ จะเร่งติดตามทรัพย์สินคืนจากกรณีการทุจริต พร้อมให้ความร่วมมือกับองค์ระหว่างประเทศ เสริมสร้างต่อต้านการทุจริตและบังคับใช้กฎหมาย ตามกรอบความร่วมมือเอเปค
ที่โรงแรมอนันตรา สยาม ราชดำริ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเครือข่ายหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ในหัวข้อการติดตามทรัพย์สินคืน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. คณะกรรมการการตรวจตราแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ
วัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อต้องการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพ ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่อต้านการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริต และการให้สินบนของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคทั้งเรื่องการศึกษาเส้นทางการเงิน การอายัด และริบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด กระบวนการในการส่งทรัพย์สินคืนกลับประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์กรณีศึกษาเทคนิคและเครื่องมือสืบสวนสอบสวน เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้มีผู้แทนจาก คณะกรรมการการตรวจตราแห่งชาติ สมาชิกเครือข่ายหน่วยงานต่าง ๆ และบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ผู้แทนจากสมาชิกเอเปก 21 เขตเศรษฐกิจ เข้าร่วมการประชุม
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า หน่วยงาน ป.ป.ช.ตระหนักว่าการทุจริตก่อให้เกิดผลลัพธ์อันเลวร้าย รวมถึงความยุ่งยากในการติดตามทรัพย์สินคืน ซึ่งกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจยุคปัจจุบันเอื้อต่อการทุจริต การส่งเสริมและสนับสนุนของเอเปคทำให้การค้าเสรีและการลงทุนเติบโตขึ้น แต่ทุกประเทศต้องไม่มองข้ามผลกระทบที่จะตามมา ในแง่ขอบเขตการทุจริต โดยเฉพาะการโอนย้ายทรัพย์สินที่ได้มาแบบผิดกฎหมาย ซึ่งทุกประเทศในกลุ่มเอเปคให้ความกระตือรือร้นในการจัดการกับปัญหาทุจริตเพิ่มมากขึ้น
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญกับการติดตามทรัพย์สินคืนมาโดยตลอดและพัฒนาศักยภาพของประเทศตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้วยกฏหมายใหม่ที่นำเสนอเครื่องมือและกลไกตอบสนองต่อปัญหาที่ซับซ้อน รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพื่อเสริมสร้างกระบวนการติดตามทรัพย์สิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น กรอบความร่วมมือเอเปคเป็นเครือข่ายสำคัญที่มีบทบาทในการส่งเสริมความพยายามในการต่อต้านการทุจริตในประเทศ ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมรับ การกระทำของผู้ที่ทุจริต และติดตามส่งคืนทรัพย์สินที่มาจากการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาปักกิ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย