ออสเตรีย 29 พ.ย. – “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” เห็นด้วย 195 ประเทศสมาชิกอินเตอร์โพลจะใช้ หมายสีเงิน (Silver Notice) มาบังคับใช้ ในการติดตามทรัพย์สินหรือเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด รวมถึงการบันทึกข้อมูลการใช้สื่อของกลุ่มอาชญากร เพื่อติดตามบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในความร่วมมือระหว่างชาติ มุ่งแก้ปัญหาอาชญากรข้ามชาติ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีอินเตอร์โพล
การประชุมสมัชชาใหญ่ตำรวจสากล (INTERPOL) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกกว่า 195 ประเทศ โดยปีนี้เป็นโอกาสพิเศษครบรอบ 100 ปี หรือหนึ่งทศวรรษของการจัดตั้ง INTERPOL ซึ่งจัดตั้งเป็นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรีย และปีนี้ก็ย้อนกลับมาจัดที่ประเทศต้นทางอีกครั้ง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าร่วมประชุม เพื่อแสวงหาความร่วมมือผ่านแดน ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ, คอลเซ็นเตอร์, ค้ามนุษย์ และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
การประชุมในวันแรกเป็นการประกาศรับประเทศสมาชิกเพิ่มคือ สาธารณรัฐปาเลา เป็นสมาชิกประเทศที่ 196 และยังได้มีการหารือร่วมกันในการขับเคลื่อนความร่วมมือผ่านแดนในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าปัจจุบันกลุ่มคนร้าย หรืออาชญากรสามารถก่อเหตุได้พร้อมๆ กันในหลายประเทศและใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ
ดังนั้นการจัดการปัญหาต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและประสานความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นเพื่อไล่ล่ากลุ่มอาชญากรในทุกช่องทางโดยเฉพาะพื้นที่ที่กลุ่มอาชญากรมักใช้เป็นแหล่งกบดานหลังการก่อเหตุหรือระหว่างการก่อเหตุ ดังนั้นจะต้องใช้ทั้งความร่วมมือและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ โดยครั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ตำรวจสากลได้มีการเสนอใช้หมายประเภทใหม่คือ หมายสีเงิน (Silver Notice) ซึ่งจะใช้ในการประสานและแจ้งเตือนประเทศสมาชิกในการช่วยติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าแนวทางที่ทุกประเทศกำหนดร่วมกันในครั้งนี้ ภายใต้ แนวคิด ศตวรรษแห่งการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน และนวัตกรรม เพื่อโลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการร่วมมือปราบปรามอาชญากรข้ามชาติ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่เกิดขึ้นได้พร้อมกันหลายหลายพื้นที่ในเวลาเดียวกัน ยังอาจเกิดจากคนกลุ่มเดียวกันที่ทำงานกันเป็นเครือข่ายโดยอาศัยประชากรหรือพลเรือนของประเทศนั้นๆ เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม ดังนั้นการจัดการปัญหาที่ต้นทางด้วยความรวดเร็วก็จะสามารถหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง และยังลดความสูญเสียของเหยื่อที่เกิดขึ้นจากอาชญากรข้ามชาติด้วย
ส่วนการประกาศใช้หมายประเภทใหม่คือ หมายสีเงิน (Silver Notice) ซึ่งจะใช้ในการประสานและแจ้งเตือนประเทศสมาชิกในการช่วยติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นแนวทางที่ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจน และเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในเชิงรุก ทั้งในแง่ของการค้ามนุษย์และการใช้อาวุธที่ผิดประเภท
สำหรับการบังคับใช้หมายแดง (Red Notice) ของประเทศไทยนั้น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 ดำเนินการควบคุมจับกุมและส่งต่อได้ 31 หมาย ขณะที่ปี 2565 ดำเนินการเพิ่มเติมได้เป็น 68 หมาย กระทั่งปี 2566 สิ้นสุดที่เดือนตุลาคม สามารถดำเนินการได้ถึง 106 หมาย ภายใต้การกำกับดูแลของรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และการล่วงละเมิดทางเพศของเด็ก
ขณะที่นายเจอร์เก้น สต๊อก เลขาธิการตำรวจสากล กล่าวยืนยันว่าการจับกุมคนร้ายในทุกวันนี้ หากจับกุมเฉพาะในประเทศอย่างเดียวก็จะไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างแท้จริง นั่นเป็นเพราะหัวหน้าขบวนการยังอยู่ต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องแสวงหาความร่วมมือทั้งโลก และจับกุมข้ามพรมแดนร่วมกัน. -สำนักข่าวไทย