ทำเนียบฯ 13 มี.ค.- ครม.เห็นชอบหลักการร่างกม.คุมเงินดิจิทัล เน้นดูแลรายย่อย โดยบางกรณีจะต้องเสียภาษีจากการซื้อขายด้วย
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิ ดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการ จัดทำร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากที่ผ่านมาสกุลเงินดิจิทัลเร่ิมมีการระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยและสถาบันอย่างแพร่หลายมากขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาการฉ้อโกงประชาชน ปัญหาการฟอกเงิน และไม่ให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจ จึงได้ออก พ.ร.ก.เข้ามากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล
ด้วยการกำหนดให้ นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในตลาด ทั้งศูนย์กลางการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล โบรกเกอร์หรือตัวแทนจำหน่าย ดีลเลอร์ ต้องมาลงทะเบียนกับส่วนราชการเพื่อให้อยู่ในการกำกับดูแล สำหรับสกุลเงินดิจิทัล หากมีการซื้อขายแล้วมีกำไร ต้องประเมินสินทรัยพ์ตีมูลค่าภาษีกับกรมสรรพากร ขณะที่สกุลเงินดิจิทัลบางประเภทเช่น โทเค่น มีลักษณะเหมือนกับหุ้น มีทั้งกำไรส่วนต่างจากการซื้อขาย และการจ่ายเงินปันผลให้กับผุ้ลงทุน ดังนั้นจึงต้องเสียภาษีร้อยละ 10 ของเงินปันผลด้วยอีกทางหนึ่ง ให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุนในหุ้น สำหรับรายละเอียดทั้งหมดต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อนำกลับเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์ข้างหน้า
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการยกร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ว่า การออกพ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อให้ผู้กำกับดูแลมีอำนาจในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเห็นด้วยว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีทั้งข้อดี และข้อควรระวังโดยเฉพาะหากคนที่ไม่สุจริตนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในทางที่ผิดอาจจะเกิดปัญหา ดังนั้นจึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแล โดยเฉพาะป้องกันคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลดีพอ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและเกิดความเสียหาย ส่วนคนที่มีความรู้เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลก็สามารถลงทุนได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ตลท.จะทำงานอย่างใกล้ชิด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพราะมีบจ.เริ่มระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล (ICO)
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า โดยสาระสำคัญจะกำหนดแนวทางการกำกับดูแล และการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย
ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้น เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่น ๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่น ๆ และเนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องตราพระราชกำหนด
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) เป็นการกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลและการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ดังนี้ กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้ ทรัพย์สินดิจิทัล หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล และทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
เพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลดังนี้ มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับแล้ว
ทั้งนี้ ให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป.-สำนักข่าวไทย