กรุงเทพฯ 12 มี.ค. – กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เดินหน้าผลักดันให้โรงบรรจุก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) บรรจุข้ามแบรนด์ ชี้เป็นประโยชน์ผู้บริโภค รองรับการเปิดเสรี เกิดการแข่งขัน ต้นทุนราคาต่ำลง
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดี ธพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการหารือทั้งผู้ค้าก๊าซแอลพีจี โรงบรรจุ เกี่ยวกับการเตรียมแนวทางการเปิดให้โรงบรรจุต่าง ๆ สามารถบรรจุข้ามแบรนด์ได้ ซึ่งเบื้องต้นผู้ประกอบการไม่ค่อยเห็นด้วย มีการทำหนังสือไปหน่วยงานต่าง ๆ คัดค้าน โดยห่วงเรื่องความปลอดภัยการบรรจุข้ามแบรนด์ รวมถึงการดูแลถังก๊าซฯ อย่างไรก็ตาม ธพ.ได้ชี้แจงให้เข้าใจว่าการเปิดบรรจุข้ามแบรนด์ได้นั้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อระบบการค้าเสรี ทำให้เกิดรายใหม่ในการแข่งขัน ทั้งโรงบรรจุและผู้ค้า โดยผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถทำแบรนด์ของตัวเองได้ด้วย นอกเหนือจากปัจจุบันแบรนด์แอลพีจี ที่จำหน่ายเป็นถังนั้น มีเพียงไม่กี่แบรนด์ โดยเมื่อท้องถิ่นทำแบรนด์ได้ราคาน้ำก๊าซฯ รวมถึงค่ามัดจำถังก็จะถูกลงด้วย โดยปัจจุบันค่ามัดจำถังขนาด 15 กก.อยู่ที่ประมาณ 1,500-1,600 บาท/ถัง และคาดว่าโรงบรรจุจะเพิ่มมากขึ้นกว่า 560 แห่งในปัจจุบัน
“ผู้ค้าก๊าซและโรงบรรจุเป็นห่วงว่าจะไม่มีกฎหมายดูแล แต่ข้อเท็จจริง คือ ธพ.ยังดูแลภายใต้ พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ทั้งระบบ รวมถึงเอกชนก็จะมีการฟ้องร้องทางแพ่งกันเอง หากมีการโกงการบรรจุใช้ถังของผู้อื่นมาขาย ซึ่งปัญหาอาจรุนแรงถึงขั้นปิดโรงบรรจุก็ได้” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการทางด้านกฎหมาย คือ ให้การค้าก๊าซไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้นำเรื่องการขนส่ง การบรรจุ การดูแลภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรีมาอยู่ภายใต้กฎหมายการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น จึงคาดว่าจะใช้เวลาเป็นปีในการแก้ไข ซึ่งกรณีที่เกรงว่าจะมีการลักลอบนำน้ำก๊าซยี่ห้ออื่นไปบรรจุข้ามแบรนด์ในถังของยี่ห้ออื่น ๆ โดยภาระของการดูแลความปลอดภัยถังเป็นของเจ้าของแบรนด์นั้น เรื่องนี้ ธพ. สามารถดูแลได้ โดยหากผู้ค้ารายงานแผนดำเนินการค้าแต่ละปีไม่สอดคล้องกับปริมาณถังก๊าซฯ ในระบบ ทาง ธพ.ก็สามารถสั่งห้ามการจำหน่ายได้ ในขณะที่เจ้าของถังก๊าซฯ ก็สามารถฟ้องร้องทางแพ่งเอาผิดโรงบรรจุก๊าซฯ ได้
“ขณะนี้มีการร้องเรียนเรื่องการไม่ดูแลซ่อมแซมถังเก่า หากเกิดการแข่งขันก็จะมีการดูแลดีขึ้น โดยกรณีที่เห็นชัด คือ บิ๊กแก๊สที่มีโรงบรรจุและการจำหน่ายในจังหวัดปทุมธานี ก็พบว่าเกิดประโยชน์ด้านราคาแก่ประชาชน ซึ่งหากเปิดให้รายใหม่ ๆ เข้ามาจากการให้โรงบรรจุสามารถบรรจุข้ามแบรนด์ได้ก็จะเกิดรายใหม่อีกหลายราย” นายวิฑูรย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย