ป.ป.ท.8 มี.ค.-ป.ป.ท.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเพิ่มอีก 5 จังหวัด ‘บึงกาฬ-หนองคาย-น่าน-ตราด-สุราษฎร์ธานี’ หลังตั้งไปแล้ว 2 จังหวัด ที่ เชียงใหม่และขอนแก่น พร้อมเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ 21 จังหวัด หลังมีข้อมูลความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีทุจริตปลอมแปลงเอกสารเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยโรคเอดส์ และเงินส่งเสริมอาชีพ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในจังหวัดขอนแก่น
พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการคดีทุจริตเงินสงเคาะห์คนไร้ที่พึ่ง ว่า ภายหลังประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มอีก 5 จังหวัด คือ จ.บึงกาฬ,หนองคาย,น่าน,สุราษฎร์ธานี และตราด เป็นการเพิ่มเติมจากที่เคยตั้งไปแล้ว 2 จังหวัดคือ ที่ จ.เชียงใหม่ และขอนแก่น
สำหรับใน 5 จังหวัด มีบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องไต่สวนรวม 25คน แยกเป็นรายจังหวัด จ.บึงกาฬ มี 9 คน, จ.หนองคาย 3 คน ,จ.น่าน 5 คน, จ.สุราษฎร์ธานี 6 คน และ จ.ตราด 2 คน แต่ละจังหวัดจะมี ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่งเกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด นอกนั้นก็เป็นข้าราชการ พนักงานข้าราชการ และลูกจ้างจำนวนต่างกันไป โดยทั้ง 5 จังหวัดพบว่ามีพฤติการณ์ที่ใกล้เคียงกันทั้งหมด มีทั้งการนำชื่อคนตายมาเป็นบุคคลที่ได้รับสิทธิ์,บุคคลไม่เข้าหลักเกณฑ์,ปลอมลายมือชื่อข้อมูลในแบบสำรวจ,ให้หน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น โรงเรียน,อบต.ส่งรายชื่อคนเข้าเกณฑ์ให้ศูนย์ แต่ศูนย์กลับจ่ายเงินไม่ครบตามฎีกา ,รายชื่อในแบบสำรวจ เมื่อตรวจสอบแล้วไม่ปรากฎข้อมูลหรือไม่มีสถานะในทะเบียนราษฎร นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่ามีบางจังหวัดที่มี่ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องการทุจริตด้วย แต่ในชั้นนี้คงยังไม่ข้อระบุรายละเอียดว่าเป็นหน่วยงานไหน หรือจังหวัดใด ขอตรวจสอบให้ชัดเจนจึงจะสามารถชี้มูลความผิดได้
ส่วนความคืบหน้าในส่วนของ จ.ขอนแก่น และเชียงใหม่ ขณะนี้ได้ดำเนินการสอบพยานที่เกี่ยวข้องไปแล้วกว่า100ปากกำลังเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน พร้อมกับจะเชิญสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) มาเป็นคณะอนุกรรมการร่วมตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย รวมทั้งจะให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาตรวจสอบเส้นทางการเงินกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ หากพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับบุคคลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ในส่วนกลาง ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ไปตรวจสอบต่อ เพราะอำนาจของ ป.ป.ท.ในขณะนี้ทำได้แค่ตรวจถึงระดับ ผอ.ศูนย์ เท่านั้น
นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก21จังหวัดที่อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากมีข้อมูลพบว่า มีความผิดปกติในการเบิกจ่ายเงิน ได้แก่จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรีอ่างทอง กระบี่ ตรัง สงขลา นราธิวาส ยะลา พัทลุง อุดรธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ยโสธรลำพูน ลำปาง เชียงราย พิษณุโลก และสระแก้ว .-สำนักข่าวไทย