กทม. 6 มี.ค.-สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ แจงไทยนำเข้าอาหารทะเลจากฟูกูชิมะ ปลอดภัย เพราะมีมาตรการตรวจสอบหลายขั้น ย้ำผู้บริโภคไม่ต้องกังวล
จากข่าวที่เผยแพร่ว่าไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้าเนื้อปลาจากพื้นที่ฟูกูชิมะ หลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 2554 โดยระบุว่าเนื้อปลาที่นำข้าวเหล่านั้นจะถูกนำไปจำหน่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่งในกรุงเทพฯ นั้น ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากมีความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคเนื้อปลานำเข้า
ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้อธิบายถึงมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดอบัติเหตุทางนิวเคลียร์ จนถึงปัจจุบันว่า หลังเกิดเหตุที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศงดการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำฟุกุชิมะทั้งหมด และมีการตรวจวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีในเนื้อปลา โดยเฉพาะปริมาณซีเซียม-137 เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ก่อนการประกาศอนุญาตให้จับปลาที่ฟุกุชิมะ ซึ่งไม่รวมเขตรัศมี 10 กม. จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตรวจวัดปริมาณสารกัมมันตรังสีในเนื้อปลาแล้ว และอนุญาตให้จับเฉพาะชนิดของปลาที่ตัวอย่างปลาทั้งหมดมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่ามาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งเข้มงวดกว่ามาตรฐานสากลถึง10 เท่า
ดร.พรเทพ กล่าวอีกว่า โดยปกติรังสีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว และมนุษย์ก็รับสารกัมมันตรังสีเหล่านี้จากรังสีอวกาศ จากพื้นดิน จากอาหารที่รับประทานเข้าไป และจากการฉายรังสีเอกซเรย์ แต่เนื่องจากรังสีเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ มาตรฐานของสารกัมมันตรังสีถูกกำหนดขึ้นโดยอ้างอิงจากรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ โดยจะกำหนดปริมาณสารกัมมันตรังสีซึ่งถึงแม้บุคคลธรรมดาจะบริโภคอาหารชนิดนี้ทุกวันตลอดชีวิต ก็จะได้รับรังสีไม่เกินจากปริมาณรังสีที่ได้รับในธรรมชาติ ฉะนั้นจากมาตรการที่กล่าวมา อาหารทะเลที่นำเข้าจากฟุกูชิมะ จึงถือว่าปลอดภัย
ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้นิ่งนอนใจ ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารทะเลปนเปื้อนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากร้านอาหารหรือผู้บริโภคยังมีความกังวลในปริมาณสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในอาหาร ก็สามารถส่งมาตรวจได้ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติเพื่อจะได้มั่นใจว่าปริมาณสารกัมมันตรังสีในอาหารไม่เกินมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง .-สำนักข่าวไทย