เพชรบุรี 3 มี.ค.-กระทรวงเกษตรฯ ตั้งเป้าพัฒนาเกลือเป็นสินค้าส่งออก
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัด เพชรบุรี ว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายที่จะพัฒนาและยกมาตรฐานการผลิตเกลือไทยให้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญเป็นที่รู้จักและต้องการในตลาดโลกอย่างถาวร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยกันหาทางลดต้นทุนการผลิต และจัดทำมาตรฐานสินค้าเกลือทะเล โดยจำแนกเกลือให้มีหลายระดับ สามารถแปรรูปผลผลิตเกลือให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น สนับสนุนการนำเกลือทะเลมาใช้ในการผลิตสารฝนหลวงที่ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาเกลือทะเล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ อย่างกว้างขวาง
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะระดมความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีอาชีพที่มั่นคง และผ่านการจำหน่ายเกลือที่มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้จะส่งเสริมยกระดับระบบสหกรณ์นาเกลือให้เกิดความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะต้องหาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาต่อไป
สำหรับในจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ในการทำนาเกลือของเกษตรกรผู้ผลิตเกลือทะเล รวมทั้งสิ้น 32,000 ไร่ โดยเกษตรกรสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด มีพื้นที่ทำนาเกลือ จำนวน 16,286 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 45.24 ของพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดของ จ.เพชรบุรี โดยเกษตรกรผู้ทำนาเกลือได้รวมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร ชาวนาเกลือบ้านแหลม จำกัด ซึ่งมีจุดเด่น คือขบวนการผลิตเกลือทะเลสหกรณ์จากการรวบรวมผลผลิตเกลือทะเลของสมาชิกผ่านชุมชนสหกรณ์ ฯ และนำมาแปรรูปเกลือทะเล มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 261 คน
ด้านผลผลิต สหกรณ์กำหนดแผนรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก โดยการทำ MOU กับสมาชิกสหกรณ์ฯ รวบรวมเกลือผ่านชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย จำกัด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2561 ดังนี้ 1.เกลือขาว จำนวน 2,423 ตัน 2.เกลือกลาง จำนวน 62,579 ตัน 3.เกลือดำ จำนวน 3,432 ตัน รวมทั้งสิ้น 68,434 ตัน ปัจจุบันสหกรณ์รวบรวมเกลือจากสมาชิก จำนวน 614,310 กิโลกรัม และส่งผ่านชุมนุมฯ ไปแล้ว 469,950 กิโลกรัม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ช่วยเหลือสมาชิกของสถาบันเกษตรกรที่ทำนาเกลือในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ผ่านโครงการ “โครงการสร้างระบบการผลิตและการตลาดเกลือ ทะเลของสถาบันเกษตรกรด้วยวิธีการยกระดับราคาให้ยั่งยืน” กำหนดให้สหกรณ์/กลุ่ม เกษตรกรเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในการผลิตเกลือคุณภาพมาตรฐานและรักษาระดับราคาเกลือให้กับสมาชิกในช่วงฤดูแล้งของทุกปีที่มีเกลือทะเลมากที่สุดประมาณ 3 – 4 เท่า ของช่วงปกติ โดยใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร วงเงิน 52.5 ล้านบาท เป็นเงิน ปลอดดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี ระยะเวลาเริ่มโครงการ ตั้งแต่ปีการผลิต พ.ศ. 2559 ถึงปี พ.ศ.2563
“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงวางรากฐานรักษาอาชีพทำนาเกลือไว้ให้คนไทย ทรงพระราชทานพื้นที่ที่สำคัญในการทำนาเกลือจนเกิดประโยชน์ต่อคนไทยมาช้านาน ไม่ใช่เฉพาะทำให้คนไทยไม่เป็นโรคคอหอยพอกเท่านั้น แต่ยังนำเกลือไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้อีก ดังนั้นเราจะรักษาอาชีพทำนาเกลือไว้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย เชื่อว่าความร่วมมือและความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะสามารถสืบสานพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ให้คงอยู่กับคนไทยได้นานเท่านาน” นายวิวัฒน์ กล่าว-สำนักข่าวไทย