กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 15 ก.ค. – กฤษฎาเก็บของจากห้องทำงาน ส่งข้อความอำลาตำแหน่ง ลั่นชีวิตนี้จะไม่มีวันลืมที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกับรมช. ทั้ง 2 ท่าน ผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงเกษตร ทำงานถวายในหลวง ปฏิรูปโครงสร้างเกษตรสำเร็จ เกษตรกรเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ด้วยนโยบายการตลาดนำการผลิต
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เก็บของจากห้องทำงานแล้ว โดยก่อนออกจากกระทรวงเกษตรฯ ได้สักการะพระพิรุณทรงนาคซึ่งเป็นที่นับถือประจำกระทรวง อีกทั้งส่งข้อความทางไลน์ถึงผู้บริหารและข้าราชการทุกคนโดยระบุว่า “ตามที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ 30 พ.ย. 60 นั้น ตลอดระยะเวลา 1ปี 7 เดือน 16 วันของการทำงาน ตนได้รับความกรุณาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รวมถึงทุกภาคส่วนอย่างดียิ่ง การที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่นเพราะมีผู้ร่วมงานที่ดีคือ นายลักษณ์ วจนานวัชและนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมืออันดีจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหาร และข้าราชการทุกคน โดยงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมได้แก่ การปรับโครงสร้างการทำงานข้าราชการจาก 14 กรมในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ให้มาทำงานร่วมกันในรูปคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ภายใต้การอำนวยการของผู้ว่าราชการจังหวัดส่งผลให้การแก้ไขปัญหาและงานพัฒนาการเกษตรกรรมมีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
สิ่งสำคัญจะไม่มีวันลืมในชีวิตนี้คือ การที่ได้ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวทำงานสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในงานการบริหารจัดการน้ำและงานฝนหลวงซึ่งเป็น “น้ำพระทัยจากฟากฟ้า หลั่งลงมาสู่ดิน” ทั่วทุกพื้นที่ช่วยให้ประชาชนมีน้ำในการดำรงชีพและการประกอบอาชีพแล้ว เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นกระจายไปทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ ก็ได้ปฏิบัติการฝนหลวงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จนสถานการณ์ผ่อนคลายไปได้ในระดับที่น่าพอใจ ตลอดระยะ 80 ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนซึ่งชาวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จักพร้อมใจร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดีตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
สำหรับงานแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพนั้นได้ริเริ่มการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแทนการใช้งบประมาณจำนวนมากไปจ่ายชดเชยราคาผลผลิตที่ตกต่ำตามมาตรการพยุงราคา โดยหันมาใช้วิธีปรับสมดุลของอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) สินค้าเกษตรด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ ลดการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่นซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดตาม “นโยบายการตลาดนำการผลิต” เช่น การสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายแทนการทำนาปรัง การขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ลดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่และแม่ไก่ยืนกรงลงจนสามารถทำให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศด้วยการนำน้ำยางพาราไปผสมสารเคมีในการทำถนนแทนถนนลูกรังในชนบทส่งผลให้ราคายางพาราในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศชาติที่ค้างคามานานหลายทศวรรษจนเริ่มเห็นผลสำเร็จบ้างแล้ว ดุจดัง “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” นั่นคือ การแก้ไขปัญหาอาหารเสริม (นม) โรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพได้สำเร็จ ต่อไปนี้นักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะได้ดื่มนมที่มีคุณภาพครบทุกโรงเรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2562 เป็นต้นไป เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาที่เหมาะสม และผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรสิทธิ์ในการจำหน่ายนมตามโครงการอย่างเป็นธรรม อีกทั้งสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2544 จำนวนนับหมื่นรายที่แบกภาระยอดหนี้เฉพาะเงินต้นประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยใช้การเจรจากับเจ้าหนี้ แทนการใช้งบประมาณแผ่นดินไปซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ อีกทั้งไม่ต้องสูญเสียที่ดินของตนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตรกรรมให้แก่เจ้าหนี้
สำหรับงานที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องขับเคลื่อนต่อไปคือ การจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตร ของประเทศที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมแต่ละประเภทให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาผลผลิตล้นตลาดที่จะส่งผลให้ราคาตกต่ำอีกด้วย การส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานหรือหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนและทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบแปลงใหญ่ (Mega Farm) การส่งเสริมให้นำเครื่องจักรกลสมัยใหม่มาใช้ในการทำเกษตรกรรม การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (Organic) และเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งเป็นผลผลิตที่ตลาดมีความต้องการมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ประการสำคัญคือ การทำเกษตรกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรในที่สุด การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในพืชและสัตว์ การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง การแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวประมงที่อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมง เป็นต้น
นายกฤษฎากล่าวว่า เชื่อมั่นในความตั้งใจของชาวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะทำงานสนองคุณแผ่นดินเกิดซึ่งจะได้รับผลตอบแทนด้วยสิ่งที่ดีงามจากการทำความดีตลอดไป ท้ายนี้หากมีคำอื่นใดที่มีคุณค่าเหนือกว่าคำ “ขอบคุณ” ตนยินดีจะมอบคำนั้นให้แก่ชาวกระทรวงเกษตรฯ และหากช่วงที่ได้ทำงานร่วมกันแล้วมีสิ่งใดอาจทำให้ข้าราชการไม่สบายใจแล้ว ขออภัยมา ณ โอกาส นี้ด้วย” . – สำนักข่าวไทย